สรรพากรเคลียร์แล้ว คำนวณภาษีเทรดคริปโต นำขาดทุนมาหักกำไรได้หรือไม่ ออกคู่มือสิ้นเดือนนี้
สรรพากรเคลียร์ เทรดคริปโต นำขาดทุนมาหักกำไรได้ ขีดเส้นระบุชัดกฎหมายไม่ครอบคลุมต้องเสียหัก ณ ที่จ่าย 15% รวมทั้งเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ด้วย ออกคู่มือ31มค.
วันที่ 28 ม.ค.65 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ข้อสรุปแนวทางผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล (ภาษีคริปโต) ซึ่งเสนอให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เห็นชอบ ออกกฎกระทรวง กำหนดวิธีการคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) เพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน แต่ต้องซื้อขายจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น
นอกจากนี้ ในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เนื่องจาก เมื่อมีการขายสินทรัพย์ในกรณีนี้ทางปฏิบัติ Exchange ไม่รู้จะออกใบกำกับภาษีให้ใครโดยจะเว้นเฉพาะการซื้อขายผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
“การผ่อนปรนภาษีทั้ง 3 แนวทาง แต่ผู้เสียภาษียังคงต้องนำรายได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้คำนวณเงินได้ เพื่อภาษีเงินได้ประจำปีตามปกติ” นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า กรมฯ จะต้องทำให้ชัด โดยเตรียมออกคู่มือเสียสินทรัพย์ดิจิทัล ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ในประเด็นการจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล วิธีการจัดเก็บภาษี วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือวิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้ รวมทั้งการวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา
ในอนาคตกรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมในชั้นสภาผู้แทนราษฎร อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย