"IPO" ทั่วโลก ชะลอตัว หลังเกิดวิกฤติแบงก์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า วิกฤติภาคธนาคารและความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังส่งผลกระทบต่อตลาด IPO ทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะตกต่ำ แม้ว่าเริ่มต้นปี 2566 นักลงทุนมองว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นที่เลวร้ายที่สุดอาจจบลงแล้ว
โดย Bloomberg ได้รวบรวมข้อมูลและพบว่าบริษัทต่าง ๆ ระดมทุนได้เพียง 19,700 ล้านดอลลาร์ ผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในปี 2566 ซึ่งลดลงราว 70% เมื่อเทียบรายปี และต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562
ทั้งนี้ หุ้นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นปี 2566 ได้แรงหนุนจากการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการผ่อนปรนนโยบาย Covid Zero ของจีน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชะลอลง ทำให้ความหวังในการเปิดตลาด IPO กลับมาอีกครั้ง
Udhay Furtado หัวหน้าร่วมของ ECM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Citigroup Inc. กล่าวว่า "อัตราดอกเบี้ยเป็นประเด็นอันดับหนึ่ง และมีการถกเถียงกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาในการรัดเข็มขัดจะคงอยู่หรือเปลี่ยนทิศทางและความเร็วเท่าใด มีหลายสิ่งที่ผู้คนจะต้องดู รวมถึงทิศทางของธนาคารกลาง เพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นไตรมาสที่ 2, 3 หรือ 4 ที่จะเปิดเสนอขาย IPO อีกครั้ง"
โดยเสถียรภาพที่ IPO ต้องการนั้นขาดหายไปอย่างมาก โดยมาตรวัดความผันผวนพุ่งสูงกว่า 20 ในเดือนมีนาคม หลังจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และสถาบันการเงินรายอื่น ๆ ในภูมิภาคของสหรัฐ และมีสัญญาณว่าปัญหาด้านการธนาคารกำลังส่งผลกระทบต่อแผนการเสนอขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นและบริษัทต่าง ๆ ขายหุ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์จากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในช่วงต้นปีและจัดหาแหล่งเงินทุนในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราสูงขึ้น ต้นทุนหนี้ที่สูงขึ้นยังหมายความว่าบางบริษัทได้ลดการถือครองไว้เพื่อเพิ่มทุนสำหรับการชำระหนี้และความต้องการเงินทุนอื่น ๆ
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN