รีเซต

นักวิทย์จีนพัฒนาเส้นใยทอผ้า แรงบันดาลใจจากขนหมีขั้วโลก

นักวิทย์จีนพัฒนาเส้นใยทอผ้า แรงบันดาลใจจากขนหมีขั้วโลก
Xinhua
22 ธันวาคม 2566 ( 21:49 )
30

(แฟ้มภาพซินหัว : หมีขั้วโลกที่สวนสนุกฮาร์บิน โพลาร์พาร์ก นครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 14 ก.พ. 2022)

หางโจว, 22 ธ.ค. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (15 ธ.ค.) วารสารไซแอนซ์ (Science) รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาเส้นใยทอผ้าที่มีฉนวนกันความร้อนดีเยี่ยมด้วยแรงบันดาลใจจากขนของหมีขั้วโลก โดยเส้นใยที่มีแอโรเจล (aerogel) ห่อหุ้มนี้สามารถซัก ย้อมสี ทนทาน และเหมาะสำหรับใช้ในสิ่งทอขั้นสูง

รายงานระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงของจีนได้ค้นพบแรงบันดาลใจจากขนที่มีคุณสมบัติพิเศษของหมีขั้วโลก ซึ่งสามารถสร้างความอบอุ่นและสภาวะแห้งแก่ร่างกายของพวกมันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเส้นขนของหมีขั้วโลกมีแกนกลางที่มีรูพรุนและถูกห่อหุ้มอยู่ในโครงสร้างเปลือกหุ้มหนาแน่น

คณะนักวิจัยได้เลียนแบบโครงสร้างเปลือกหุ้มแกนกลางของขนหมีขั้วโลก และสร้างเส้นใยแอโรเจลที่มีความแข็งแกร่งและรูพรุนเรียงเป็นชั้นๆ ซึ่งสามารถดักจับรังสีอินฟราเรดใกล้กับผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงสภาพเชิงกล ทำให้เหมาะสำหรับการถักทอ

นอกจากนั้นเส้นใยดังกล่าวยังรักษาคุณสมบัติการเป็นฉนวนกันความร้อนหลังถูกจับยืดซ้ำด้วยระดับการขยายจนตึงร้อยเปอร์เซ็นต์ จำนวน 10,000 รอบ โดยคณะนักวิจัยได้ทดสอบเส้นใยนี้ในเสื้อกันหนาวเนื้อบางที่มีความหนาราวหนึ่งในห้าของเสื้อขนเป็ด และพบว่ายังคงเป็นฉนวนกันความร้อนได้

คณะนักวิจัยชี้ว่าการออกแบบเสื้อผ้านี้สร้างความเป็นไปได้มากมายในการพัฒนาเส้นใยและสิ่งทอแอโรเจลอเนกประสงค์ในอนาคต

อนึ่ง เส้นใยแอโรเจลโดยทั่วไปจะขาดแคลนความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นอันจำเป็นต่อการนำมาถักทอเป็นเสื้อผ้า รวมถึงสูญเสียคุณสมบัติการเป็นฉนวนกันความร้อนเมื่ออยู่ในสภาพเปียกหรือชื้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง