รีเซต

นักวิทย์เรียกร้องเร่งจัดการ 'โรคภัยจากอาหาร' ในแอฟริกา

นักวิทย์เรียกร้องเร่งจัดการ 'โรคภัยจากอาหาร' ในแอฟริกา
Xinhua
5 มิถุนายน 2564 ( 23:44 )
71
นักวิทย์เรียกร้องเร่งจัดการ 'โรคภัยจากอาหาร' ในแอฟริกา

 

ไนโรบี, 4 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (3 มิ.ย.) คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวในการบรรยายสรุปออนไลน์เนื่องในโอกาส ‘วันความปลอดภัยด้านอาหารโลก’ (World Food Safety Day) ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 7 มิ.ย. ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ว่ากลุ่มประเทศแอฟริกาควรคิดหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อยกระดับการรับมือโรคภัยอันเกิดจากอาหาร (Foodborne disease) ที่เพิ่มขึ้น

 

จิมมี สมิธ (Jimmy Smith) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ (ILRI) ในกรุงไนโรบี กล่าวว่าการต่อสู้กับโรคที่เกิดจากอาหารถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูระบบสาธารณสุขของแอฟริกา

 

สมิธกล่าวว่า "ความปลอดภัยของอาหารมักเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างในแอฟริกา ที่มีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหารมากกว่า 135 ล้านรายต่อปี และผู้เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคดังกล่าว 180,000 รายต่อปี"

 

สมิธกล่าวว่าแอฟริกาได้แซงหน้าเอเชียไปแล้วในด้านสถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคข้างต้น และชี้ว่าการเสียชีวิตเหล่านี้ส่งผลให้ทวีปแอฟริกาสูญเสียผลิตภาพมูลค่าราว 1.83 ล้านล้านชิลลิง (ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท) ในปี 2019

 

สมิธเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อยกระดับความปลอดภัยของอาหารในแอฟริกา และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

คณะผู้กำหนดนโยบายและคณะนักวิทยาศาสตร์ยังมีส่วนร่วมในการบรรยายสรุปดังกล่าว เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตของโรคอันเกิดจากอาหารในแอฟริกา และการกำหนดนโยบายใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ต่อกรกับโรคเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สมิธระบุว่า โรคที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนของอาหารได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่รุนแรงเทียบเท่ากับเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/AIDS) วัณโรค และมาลาเรีย ในแอฟริกา อีกทั้งการเจ็บป่วยอันเกิดจากอาหารยังส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบางในทวีปนี้อย่างหนัก ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุและเด็ก

 

ธีโอ ไนต์ โจนส์ (Theo Knight Jones) นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร กล่าวว่าการจัดการและความสามารถด้านการจัดเก็บที่ย่ำแย่ ส่งผลให้อาหารที่วางจำหน่ายในตลาดกลางแจ้งของแอฟริกาเกิดการปนเปื้อนมากขึ้น

 

เขากล่าวว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บที่ทันสมัย การวิจัย และการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน เป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยของอาหารในแอฟริกา และการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคต่างๆ

 

ลีโอนาร์ด คิมไท (Leonard Kimtai) เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองความปลอดภัยด้านอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุขของเคนยากล่าวว่า การส่งเสริมความปลอดภัยของอาหารในห่วงโซ่คุณค่าที่สำคัญ คือกุญแจในการปรับปรุงสุขภาพของผู้บริโภค ตลอดจนการลดความอดอยากและการเจ็บป่วยในแอฟริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง