รีเซต

เปิดแผนเที่ยวไทยดันเศรษฐกิจ นำร่อง‘ภูเก็ต’ดึงดูดต่างชาติ

เปิดแผนเที่ยวไทยดันเศรษฐกิจ นำร่อง‘ภูเก็ต’ดึงดูดต่างชาติ
ข่าวสด
23 สิงหาคม 2563 ( 00:01 )
281
เปิดแผนเที่ยวไทยดันเศรษฐกิจ นำร่อง‘ภูเก็ต’ดึงดูดต่างชาติ

เปิดแผนเที่ยวไทยดันเศรษฐกิจ
นำร่อง‘ภูเก็ต’ดึงดูดต่างชาติ

 

เปิดแผนเที่ยวไทยดันเศรษฐกิจ นำร่อง‘ภูเก็ต’ดึงดูดต่างชาติ - รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามผลักดันการท่องเที่ยว ทั้งไทยเที่ยวไทย และพยายามนำต่างชาติในประเทศ ที่ปลอดโควิด-19 มาเยือนเมืองไทย

 

เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นในอดีต

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษพลิกฟื้นท่องเที่ยวสายเลือดหลักเศรษฐกิจไทย ในหัวข้อ “ไปต่อแบบไหน ถึงจะรอด!” จัดโดย ‘เส้นทางเศรษฐีออนไลน์’

 

ระบุว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ พยายามอย่างหนัก เพื่อใช้การท่องเที่ยวกระตุกให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนครั้ง จากเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 90 ล้านคนครั้ง

 

“หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่อยากให้คนไทยตระหนกเกี่ยวกับโควิด-19 มากเกินไป เพราะขณะนี้เมืองไทยมีความเข้มแข็งในด้านสาธารณสุข มีการควบคุมการแพร่ระบาดและจำกัดขอบเขตการระบาดของโควิด-19 ได้ดี”

 

นายพิพัฒน์กล่าวและว่าคนไทยต้องมีสติ ก่อนที่จะตกใจหรือตัดสินใจสิ่งใดอยากให้เช็กให้ดีก่อนว่า ข้อมูลที่ได้รับจริงหรือไม่จริง เพราะหลังจากโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างมาก ธุรกิจน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบ ประชาชนตกงานจำนวนมาก

 

ส่วนมาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมานั้น เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เรียกประชุมนัดแรกหลังปรับคณะรัฐมนตรีใหม่

 

หารือถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อชดเชยรายได้ของประเทศที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจากการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อสกัดโควิด-19

 

นายพิพัฒน์เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึง “ภูเก็ตโมเดล” ว่าต้องนำต่างประเทศ กลุ่มที่มีรายได้สูงในประเทศ ที่ปลอดจากโควิด-19 อาทิ กลุ่มสแกนดิเนเวีย เป็นต้น เข้ามาเที่ยวแบบจำกัดบริเวณ นำร่องที่จังหวัดภูเก็ต เริ่ม 1 ต.ค.นี้

 

เป็นแนวคิดที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่าเพื่อความมั่นใจว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะนำเข้ามานี้ต้องไม่แพร่เชื้อ ก็ต้องมีการจำกัดขอบเขตพื้นที่ที่สามารถเที่ยวได้

 

ที่สำคัญก่อนจะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องสำรวจความพอใจของชุมชน ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตก่อนว่าพร้อมไหมในการรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.นี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สำรวจความพร้อมของชุมชน คนในพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศว่ามีความพร้อมหรือไม่ หากไม่พร้อมรัฐบาลจะไม่ดำเนินการต่อ

 

“การนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยจะเป็นเครื่องเช่าเหมาลำ เที่ยวในพื้นที่แบบจำกัด แต่กระทรวงคมนาคมกังวลว่าแถบจังหวัดภูเก็ตมีเกาะจำนวนมาก นักท่องเที่ยวจะลักลอบหนีไปเที่ยวเกาะอื่น โดยไปทางน้ำใช้เรือหนีเที่ยว จึงต้องหามาตรการให้รัดกุมไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าว เพื่อไม่ให้คนไทยเป็นกังวล”

 

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีสั่งในที่ประชุม ศบศ. ว่าการท่องเที่ยวจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ถูก ผลกระทบจากโควิด-19 จึงสั่งการให้นำเรื่องนี้ “ภูเก็ตโมเดล” ไปศึกษา เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวไทยแบบจำกัดพื้นที่

 

โดยให้ดำเนินการพร้อมๆ กันใน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคกลาง เลือกพื้นที่ในแต่ละภาคและสำรวจความพร้อมของประชาชน ว่าพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่

 

ภาคเหนือ มีจังหวัดเป้าหมาย เชียงใหม่ เชียงราย, ภาคอีสาน จังหวัดเป้าหมาย คือ อุบลราชธานี อุดรธานี, ภาคตะวันออก จังหวัดเป้าหมาย คือ จันทบุรี ตราด ระยอง และชลบุรี

 

ภาคตะวันตก จังหวัดเป้าหมาย คือ กาญจนบุรี และราชบุรี, ภาคใต้ จังหวัดเป้าหมาย คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ส่วน ภาคกลางจังหวัดเป้าหมาย กรุงเทพฯ

 

รมว.การท่องเที่ยวฯ บอกอีกว่าที่ผ่านมามีวันหยุดยาวหลายช่วง แต่คนไทยยังไม่เดินทางท่องเที่ยวเกิน 300 กิโลเมตร (ก.ม.) เน้นการเดินทางโดยรถยนต์ระยะใกล้ๆ แต่ช่วงนี้ถือเป็นนอกฤดูการท่องเที่ยว ดังนั้น อีก 2 เดือนจากนี้จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) คนไทยต้องมีการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภาค

 

อย่างภาคอีสานไม่มีทะเลก็จะเดินทางท่องเที่ยวทะเล ส่วนคนภาคใต้ก็จะเดินทางเที่ยวภาคเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็น

ดังนั้น เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ สัปดาห์หน้าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ ศบศ.มีมติขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันดังนี้คือ

 

การจองห้องพักจากคนละ 5 คืน เป็นคนละ 10 คืน และขยายวงเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท เพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวให้ไกลมากขึ้น

 

สําหรับโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ตัวเลขเมื่อวันที่ 17 ส.ค. มีประชาชนลงทะเบียน 4.62 ล้านคน มีโรงแรมและที่พักลงทะเบียนรวม 6,943 แห่ง ร้านอาหาร 60,273 ร้าน และผู้ประกอบการ โอท็อป 1,058 แห่ง

 

ใช้สิทธิ์โรงแรมทั้งสิ้น 544,373 คืน มูลค่าห้องพักที่จองทั้งหมด 1,622 ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่ายผ่าน e-Wallet มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 145,152 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 187.9 ล้านบาท

 

การขอรับสิทธิ์เงินคืนค่าบัตรโดยสารมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 10,155 ราย มีจำนวนจองตั๋วแล้ว 1,701 ราย และมูลค่าบัตรโดยสารรวม 4.9 ล้านบาท

เรียกว่าต้องปรับตัวและวางแผนกันเต็มที่เพื่อกระตุ้นภาคท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของไทยมานานหลายสิบปี เพราะมีสัดส่วนประมาณ 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. ที่จะพลิกฟื้นภาคท่องเที่ยวเพื่อเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง