เช็กที่นี่!มาตรการสินเชื่อ-พักหนี้แบงก์ บรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3
ข่าววันนี้ ตามที่ภาครัฐได้มอบหมายให้บรรดาสถาบันการเงินของรัฐและขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ มีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่3 นั้น บรรดาแบงก์ต่างๆก็ทยอยออกมาตรการออกมาเรื่อยๆ ทั้งมาตรการพักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย ปรับ ยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ รวมถึงปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งในระลอกที่ 3 นี้ ก็ได้มีหลายแบงก์ออกมาตรการออกมาเพิ่มเติม ดังนั้น TNN ONLINE จึงรวบรวมมาตรการของแบงก์ต่าง ๆ มาฝาก
1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ล่าสุด ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิด-19 ออกมา โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เน้นที่จะช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่
1.1 บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan) เน้นการบรรเทาภาระหนี้โดย
- ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น หรือลดค่างวด
- จ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง กรณีขยายเวลาเกินกว่า 48 งวด
1.2 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด หรือ ขยายเวลาส่ง
- สำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจะ สามารถให้คืนรถได้ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
1.3 เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- ควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม
- ปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้
- สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
1.4 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
- พักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน
- ให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม - 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดย ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน
หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย คลิกที่นี่
2. ธนาคารออมสิน
2.1 มาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย
ออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ โดยมีมาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้ที่ต้องขาดรายได้หรือรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ
1. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo
2. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115 facebook : GSB Society และขอย้ำว่าธนาคารฯ ให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMo เท่านั้น
2.2 มาตรการ "สินเชื่อสู้ภัย COVID-19"
ล่าสุด ธนาคารออมสินยังได้มาตรการ "สินเชื่อสู้ภัย COVID-19" วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้อันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น บรรเทาความเดือดร้อน รายละ 10,000 บาท โดยผู้ที่สนใจสามารถให้ยื่นกู้สินเชื่อจากออมสินผ่าน MyMo ได้ตั้งแต่ 13 พ.ค. นี้ โดย คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ขอสินเชื่อ นี้ ได้แก่
- เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งผู้มีรายได้ประจําของ หน่วยงานเอกชนที่ได้รับผลกระทบกระทบจาก COVID-19 (ไม่รวมผู้มีรายได้ประจําจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ)
- มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป
- ให้วงเงินสินเชื่อออมสินกําหนดให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน
- ไม่ต้องมีหลักประกันการกู้
- ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชําระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก
สำหรับเงินกู้ ออมสิน เฟสแรกเน้น 6 จังหวัดสีแดงเข้ม คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดยสามารถยื่นกู้ได้ทางแอป MyMo ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป หลังจากนั้นในระยะต่อไปจึงขยายให้บริการลูกค้าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ตามด้วยลูกค้ากลุ่มอื่นที่ไม่มีแอป MyMo กำหนดสิ้นสุดระยะเวลาโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ ธนาคารออมสิน คลิกที่นี่
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.
3.1 "สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19"
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้เปิดให้บริการขอ "สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19" สำหรับเกษตรกร ลูกจ้างภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไข ได้แก่
- เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือลูกจ้างภาคเกษตร ที่มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีบริบูรณ์ และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- ให้วงเงินกู้ รายละไม่เกิน 10,000 บาท
- ระยะเวลาการชำระหนี้ ชำระหนี้เป็นรายเดือน ไม่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35
- เป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกัน
- จะพิจารณาให้สินเชื่อ จากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร โดยใช้ผลคะแนนมาพิจารณาผ่อนปรนจากสินเชื่อปกติของธนาคาร และต้องไม่เป็นหนี้ NPL
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถลงทะเบียนขอยื่นกู้ได้ทางไลน์ของธนาคาร ธ.ก.ส. BAAC Family ซึ่งระยะเวลาขอกู้เงินตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธ.ค. 64
3.2 โครงการพักชำระหนี้ต้นเงิน
ธนาคารยังได้ดำเนินโครงการพักชำระหนี้ต้นเงิน ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 โดย ธ.ก.ส.ได้กำหนดพักชำระหนี้ต้นเงินให้กับเกษตรกร และบุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) สหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) รวมไปถึง กลุ่มเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้าน หรือชุมชนและองค์กร ที่มีสัญญาเงินกู้และมีต้นเงินคงเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 64 และเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเม.ย. 64 เป็นต้นไป และต้องไม่เป็นหนี้ตามโครงการนโยบายรัฐ หรือโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือหรือมีเงื่อนไขตามมาตรการอื่น ๆ จำนวน 2.82 ล้านราย เพื่อคลายความกังวลใจและลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ โดยลูกหนี้สามารถนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจ
โดยในส่วนของการพักชำระหนี้จะพิจารณาจากการกำหนดงวดชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกร บุคคล สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนิติบุคคล ซึ่งจะพักชำระต้นเงินออกไป 6 เดือน ถึง 1 ปี นับจากงวดที่ถึงกำหนดชำระเดิม และเป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้า โดยลูกค้าต้องชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ ธ.ก.ส. คลิกที่นี่
4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
4.1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)
โดยมาตรการนี้ สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ทั้งนี้ ปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK ไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอกู้เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อราย (รวมสินเชื่อ Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก. ช่วยเหลือในปี 2563)
ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน)
4.2 มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้)
EXIM BANK รับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อนำมาชำระหนี้กับ EXIM BANK เป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว โดยไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินและมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับแต่วันที่รับโอน โดยปัจจุบันมีลูกค้า EXIM BANK สนใจขอรับมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวจำนวนประมาณ 940 ราย เป็นวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ EXIM BANK คลิกที่นี่
5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ คณะกรรมการธนาคาร โดยนายยุทธนา หยิมการุณ ประธานกรรมการธนาคาร จึงมอบหมายให้ธนาคารเร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการยกระดับมาตรการให้รองรับสถานการณ์ โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น
และสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการจัดทำเพิ่มอีก 2 มาตรการความช่วยเหลือผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย
มาตรการที่ 11 New Entry
เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน ระยะแรกเป็นระยะเวลา 3 เดือน (1พฤษภาคม- 31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของธนาคารมาก่อน มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้
เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 17 - 29 พฤษภาคม 2564 โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมกับ Upload หลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น หรือกรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ ghbank
สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 11 New Entry เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการ จะสามารถทยอยผ่อนชำระดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการได้จนถึงวันก่อนที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้ต่อไป
มาตรการที่ 12 เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระหรือพักชำระหนี้
ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต ขยายความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าเดิมที่อยู่ในมาตรการ 12 ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น
(1) เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกินเดือนตุลาคม 2564
(2) พักชำระหนี้ถึงเดือนตุลาคม 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการได้ที่สาขาทั่วประเทศ
โดยกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือในมาตรการที่ 12 และจะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถยื่นคำขอเข้ามาตรการประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564
ส่วนลูกค้าที่จะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการในเดือนมิถุนายน 2564 แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 12 เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการ จะสามารถทยอยผ่อนชำระหนี้ที่พักไว้ทั้งหมดภายใน 36 เดือน โดยเริ่มผ่อนชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565
สอบถามรายละเอียด มาตรการช่วยเหลือลูกค้าได้รับผลกระทบ โควิด-19 จาก ธอส. เว็บไซต์ของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คลิกที่นี่
ทั้งนี้ มาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง 5 สถาบันการเงินข้างต้น ที่เราได้รวบรวมมานั้น หวังว่าจะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ และรับมือกับสภาพคล่องในช่วงนี้ได้ไม่มากก็น้อย และหวังว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตโรคร้ายในระลอกนี้ไปได้ด้วยกัน