8 สถิติน่าสนใจด้านอวกาศ จากกินเนสส์ บุ๊ก
8 สถิติน่าสนใจด้านอวกาศที่ได้รับการบันทึกลงบนกินเนสส์ บุ๊ก หรือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness Book of World Records) ซึ่งเป็นบันทึกเริ่มต้นมาจากแนวคิดหนังสือข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งในผับ ได้แก่
อนุเชห์ อันซารี(Anousheh Ansari) นักท่องเที่ยวหญิงคนแรกในอวกาศ
เธอเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลา 10 วัน ด้วยแคปซูลโซยุส ทีเอ็มเอ 9 (Soyuz TMA-9) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2006 ซึ่งคาดการณ์ว่าเที่ยวบินดังกล่าวมีมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 757 ล้านบาท
อัลเบิร์ต 2 (Albert II) ลิงตัวแรกในอวกาศ
สัตว์ทดลองในโครงการอัลเบิร์ต (Albert program) ของสหรัฐอเมริกา ที่ทดลองส่งลิงขึ้นสู่อวกาศ เพื่อศึกษาผลกระทบของเที่ยวบินอวกาศจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ซึ่งอัลเบิร์ต 2 ได้เดินทางขึ้นไปที่ความสูง 134 กิโลเมตร ได้สำเร็จ ด้วยจรวดวี 2 (V-2) จากฐานปล่อยจรวด ฐานทัพอากาศฮอลโลแมน รัฐนิวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1949
โฆษณานมทนูวา (Tnuva Milk) โฆษณาตัวแรกที่ถ่ายทำในอวกาศ
เป็นครั้งแรกที่มีการส่งนมในรูปแบบของเหลวขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งการถ่ายทำเกิดขึ้นบนสถานีอวกาศเมียร์ (Mir space station) ของประเทศรัสเซีย โดยตัวโฆษณามีอเล็กซานเดอร์ ลาซูทคิน (Alexander Lazutkin) เป็นช่างภาพที่คอยถ่ายทำด้วยกล้องวิดีโอ และมีวาซิลี ซิบลิเยฟ (Vasily Tsibliyev) เป็นตัวแสดงที่คอยทำท่าทางว่ากำลังดื่มนม ซึ่งโฆษณาตัวนี้ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1997
เจ้าชายสุลต่าน บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล เซาด์ (Prince Sultan bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) เชื้อพระวงศ์คนแรกในอวกาศ
จ้าชายจากประเทศซาอุดิอาราเบียที่ขึ้นบินสู่อวกาศในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเพย์โหลด (Payload Specialist) ในเที่ยวบินเอสทีเอส 51 จี (STS-51-G) ซึ่งขึ้นบินด้วยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 1985 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 1985
แซนด์วิชเนื้อคอร์น อาหารชนิดแรกที่ถูกลักลอบเข้าสู่อวกาศ
ในภารกิจเจมินี 3 (Gemini 3) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1965 ขณะที่นักบินอวกาศกัส กริสซัม (Gus Grissom) และนักบินอวกาศจอห์น ยัง (John Young) กำลังปฎิบัติภารกิจ โดยตลอดทั้งภารกิจ ทั้งคู่ไม่มีคำสั่งหรือคำอนุญาตให้รับประทานอาหาร แต่นักบินอวกาศจอห์น ยังได้นำแซนด์วิชเนื้อคอร์นขึ้นมารับประทานภายในยานอวกาศ ทำให้ในภายหลัง ทั้งคู่ถูกลงโทษทางวินัยโดยนาซา (NASA) เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตภายในยานอวกาศอาจส่งผลเสียแต่อุปกรณ์ภายในยาน และอาจเป็นอันตรายต่อตัวนักบินอวกาศเอง
แบคทีเรียไดโนคอคคัส (Deinococcus) แบคทีเรียชนิดแรกที่ได้รับการพิสูน์ว่าอยู่รอดในอวกาศ
การทดลองกินระยะเวลานานถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2018 โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสตัฟฟ์แบคทีเรียไดโนคอคคัสจากบนพื้นโลก แล้วส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศสก็อต เคลลี (Scott Kelly) ทำหน้าที่นำแบคทีเรียดังกล่าวไปติดตั้งนอกสถานีอวกาศนานาชาติ แล้วส่งตัวอย่างกลับมายังโลกทุก ๆ ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะตาย แต่มีประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างที่มีชีวิตรอด
ลอตตี้ วิลเลียมส์ (Lottie Williams) คนแรกที่ถูกชนโดยขยะอวกาศ
เมื่อเช้าของวันที่ 22 มกราคม 1997 ขณะที่ลอตตี้ วิลเลียมส์กำลังเดินอยู่ในสวนสาธารณะ วัตถุสีดำยาว 12.7 เซนติเมตร ตกกระทบลงบนไหล่ของเธอ ซึ่งได้รับการยืนยันในภายหลังว่าเป็นชิ้นส่วนของจรวดเดลต้า 2 (Delta 2) อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้
เพ็กกี้ วิทสตัน (Peggy Whitson)ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับหน้าที่ผู้บังคับบัญชาสถานีอวกาศนานาชาติ
เธอได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2007 และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 181 วัน ซึ่งเธอเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้บังคับบัญชาประจำสถานีอวกาศนานาชาติ
ข้อมูลจาก www.guinnessworldrecords.com