รีเซต

เตือนภัย! "5 โรคที่มากับน้ำท่วม" มีอาการอย่างไร-เช็กวิธีป้องกันได้ที่นี่!

เตือนภัย! "5 โรคที่มากับน้ำท่วม" มีอาการอย่างไร-เช็กวิธีป้องกันได้ที่นี่!
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2565 ( 13:54 )
195

น้ำท่วมต้องระวัง! เปิด "5 โรคที่มากับน้ำท่วม" แต่ละโรคมีอาการอย่างไร และมีวิธีการป้องกันอย่างไรเช็กเลยที่นี่


น้ำท่วม 2565 หลังจากตอนนี้หลายจังหวัดของประเทศไทย กำลังเประสบกับภาวะน้ำท่วมสูง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้อีกนาน ฉะนั้นทุกคนต้องปรับตัวใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและปลอดโรค


โดยน้ำท่วมจะทำให้เกิดเชื้อโรคมากขึ้นเช่นกัน และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น วันนี้ TNN Online จะพาไปดูโรคที่มาน้ำท่วม ซึ่งแต่ละโรคมีอาการอย่างไร และ มีวิธีป้องกันอย่างไรไปดูกันเลย


โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งจัดเป็นเชื้ออันตรายร้ายแรงระดับ 2 ที่ไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ สาเหตุมาจากเชื้อ Leptospira interrogans ผู้ป่วยรับเชื้อจากการสัมผัสเลือดหรือปัสสาวะ ของสัตว์รังโรคโดยตรง เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข แมว หนู อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถติดเชื้อผ่านทางรอยแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกบริเวณผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก ที่เกิดจากการทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง หรือติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสนั้นเสียชีวิตมาก เนื่องจากในระยะแรก ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องและปลอดภัย

อาการ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลังปวดศีรษะมาก ตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร

วิธีป้องกัน สวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พัก ไม่เป็นแหล่งอาศัยของหนู


โรคน้ำกัดเท้า

เกิดจากการระคายเคือง มีลักษณะโรคหลายชนิด ทั้งการอักเสบ ระคายเคืองและติดเชื้อ  ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความถี่ที่โดนน้ำ ผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ เซลล์ผิวหนังจะอุ้มน้ำบวมและเปื่อยฉีกขาดได้  โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี  เช่น ง่ามนิ้วเท้า พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค คือบริเวณที่มีน้ำขัง โดยอาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 

ระยะที่ 1 ช่วง1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ ผิวหนังแดงคัน แสบ ผิวหนังระคายเคือง และลอกบางๆ 

ระยะที่ 2 ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ มีหนองหรือน้ำเหลืองซึม เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มากกว่าเชื้อรา 

ระยะที่ 3 ช่วง 10-20 วัน ถ้าแช่น้ำต่อเนื่อง ผิวหนังแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว เป็นขุยหรือลอกบางเป็นสีแดง ผื่นเปียกเหม็น เป็นการติดเชื้อรา

อาการ เท้าเบื่อยเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย ผิวหนังพุพอง อักเสบ

วิธีป้องกัน เช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดทายาฆ่าเชื้อ


โรคทางเดินหายใจ

เกิดจากการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลมไปจนถึงปอด เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่จากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และซาร์ส เป็นต้น การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ได้แก่ ปอดบวม และวัณโรค เป็นต้น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง เช่น โรคหวัด สามารถหายได้เองโดยการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง

อาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ ปวดศึรษะ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกายอ่อนเพลีย

วิธีป้องกัน ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการ ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด ปิดปากและจมูก เวลาไอหรือจาม ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะมือเป็นตัวกลางสำคัญในการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่นโดยตรง


โรคตาแดง

โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยเป็นการติดต่อจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น สัมผัสกับขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือหรือสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส จากการใช้สิ่งของร่วมกัน และจากการหายใจหรือไอจามรดกัน ดังนั้น เชื้อโรคจึงแพร่ระบาดได้ตามสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันมากๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า รถโดยสารสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน และมักพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กมักไม่เคร่งครัดในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคเท่ากับผู้ใหญ่

อาการ ระคายเคือง ปวดตา กลัวแสง น้ำตาไหล มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน

วิธีป้องกัน  

-หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และล้างทันทีหากสัมผัสใบหน้า ดวงตา หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย 

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา เพราะจะทำให้อาการแย่ลงหรือทำให้ดวงตาอีกข้างติดเชื้อได้

-ใช้กระดาษทิชชูชนิดนุ่มเช็ดขี้ตาหรือซับน้ำตาบ่อยๆ แล้วทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด

-ไม่ใช้ยาหยอดตาขวดเดียวกันกับดวงตาทั้งสองข้าง และให้หยอดตาเฉพาะข้างที่มีอาการเท่านั้น

-ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน ผ้าห่ม ร่วมกับผู้ป่วย

-หยุดใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายสนิท

-งดว่ายน้ำในสระว่ายน้ำในช่วงที่โรคตาแดงระบาด

-พักเรียนหรือพักงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

-พักการใช้สายตา และพักผ่อนให้เพียงพอ

-ไม่จำเป็นต้องปิดตา เว้นแต่กรณีที่กระจกตาอักเสบหรือเคืองตามากอาจปิดตาชั่วคราว หรือสวมแว่นกันแดดแทน


โรคระบบทางเดินอาหาร

เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยสุดนั้นเกิดจากการติดเชื้อ โดยอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจจะมาจากอาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ไสติ่งอักเสบ เป็นต้น หากมาจากไวรัสอาจจะมาจากไวรัสตับอักเสบ และสุดท้ายคือโรคจากพยาธิต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเป็นโรคระบบทางเดินอาหารได้จากการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น การดื่มสุรา หรือจากพันธุกรรมก็มีส่วนให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้ด้วยเช่นเดียวกัน

อาการ อุจจาระเหลว มีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมืื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง

วิธีป้องกัน ทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ





ที่มา กรมอนามัย / กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ / กระทรวงสาธารณสุข /คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี / รพ.บำรุงราษฎร์ /รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ภาพจาก AFP / TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง