เศรษฐกิจเวียดนามวันนี้ เหมือนไทยในวันวาน เมื่อเวียดนามโตเหมือนไทยยุค 1980

เวียดนามกลายเป็นที่ถูกพูดถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ GDP ที่โตกว่าไทยไป จนมีการมองว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะแซงไทยในอนาคตอันใกล้ แต่เมื่อหากย้อนกลับไปดูอดีตของไทย จะเห็นว่า เวียดนามมีความคล้ายคลึงไทยในช่วงปี 1985
เวียดนามในวันนี้ เหมือนไทยในวันวาน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามได้กลายมาเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ได้แก่ แรงงานที่มีทักษะและต้นทุนต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ล่าสุด บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ กว่า 60 แห่ง เช่น Apple, Amazon, Intel, Coca-Cola, Nike และ Boeing ได้เข้าเยือนเวียดนาม นับเป็นหนึ่งในการมาเยือนทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรมองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เหมือนกับของไทยในปี 1985 ที่การไหลเข้าของ FDI ไม่ได้เพียงสร้างเม็ดเงิน แต่ยังเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ และพัฒนาทักษะแรงงานเวียดนาม
ด้านไทยนั้น หลังข้อตกลง Plaza Accord ปี 1985 นักลงทุนญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อหาประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำแทนญี่ปุ่นที่ค่าเงินแข็งขึ้น การลงทุนเหล่านี้ช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และเหล็กกล้า พร้อมทั้งกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน สนามบิน และท่าเรือ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Emerging Market) ได้
ทั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 1986-1995 ไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 8-9% ต่อปี ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเคยเป็นยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง ขณะที่ปัจจุบัน เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ย 6-7% ต่อปี แม้จะต่ำกว่าประสบการณ์ของไทยในยุค 1980 เล็กน้อย แต่ก็ถือว่าแข็งแกร่งท่ามกลางการเติบโตของประเทศอื่นๆ ที่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ เวียดนามกำลังเดินตามเส้นทางเดียวกัน ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่
- ค่าแรงขั้นต่ำ
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี และมาตรการส่งเสริมการลงทุน
- ความได้เปรียบด้านการเข้าถึงตลาดโลก ด้วยข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเวียดนามขับเคลื่อนโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม
เศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบัน
เวียดนามมีศักยภาพสูงในการเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2020 สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงคิดเป็น 42% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเพียง 13% ในปี 2010 ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่อันดับ 7 ของโลก และมีแนวโน้มก้าวขึ้นสู่อันดับ 4 รองจากจีน ไต้หวัน และเยอรมนี ภายในเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งเน้นความ "อิสระ" ในการเลือกพันธมิตรและรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจโลก ช่วยให้เวียดนามสามารถป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากจีนที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อโลกตะวันตก
แม้เวียดนามยังคงมีการควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มงวด แต่รัฐบาลเวียดนามแสดงท่าทีเปิดกว้างในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
เวียดนามจะเป็นเสือตัวใหม่ของอาเซียนได้หรือไม่?
ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.8% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า GDP ของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 676,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 และแตะ 1.41 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2039 ก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้
ในแง่ของ GDP ต่อหัว เวียดนามคาดว่าจะข้ามเกณฑ์ประเทศรายได้ปานกลางถึงสูงในปี 2024 และไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ของอาเซียนภายในปี 2026 แซงหน้าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ยังมองว่าเวียดนามจะรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และคาดว่าเวียดนามจะแซงหน้าเพื่อนบ้านอาเซียนหลายแห่ง ในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง IMF คาดว่าภายในปี 2028 ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามจะแซงหน้าไทยได้สำเร็จ ซึ่งหากอัตราการเติบโตของเวียดนามยังคงสูงกว่าไทยอย่างต่อเนื่อง การแซงอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่การเป็น "เสือตัวใหม่ของเอเชีย" ต้องอาศัยมากกว่าแค่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เวียดนามต้องสามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก และยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
โดยเศรษฐกิจเวียดนามก็ยังเผชิญกับความท้าทายอย่าง การพึ่งพาบริษัทต่างชาติถึง 70% ของมูลค่าการส่งออก การแพร่กระจายเทคโนโลยียังช้า และยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ รวมถึงแม้ว่า GDP จะสูงขึ้น แต่ GDP ต่อหัวนั้นยังต่ำ แม้คาดการณ์ว่า GDP ต่อหัวของเวียดนามจะเข้าสู่กลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูงในปี 2024 แต่ก็ยังตามหลังจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้อย่างมาก และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี รวมถึงความเสี่ยงด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบอบการปกครองแบบเผด็จการอาจเป็นข้อจำกัดในระยะยาวได้
รวมถึงล่าสุดกับการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามโดนถึง 41% ที่อาจกระทบ GDP และภาคส่งออก จึงต้องดูกันต่อไปว่า การเจรจาจะทำให้ภาษีเวียดนามลดลงได้ หรือเป็นไปในทิศทางใด