เขมรเตือน เมียนมามีองค์ประกอบของสงครามกลางเมืองครบ! ก่อนฮุน เซน เปิดฉากเยือน
เมื่อวันที่ 5 มกราคม สำนักเอเอฟพีรายงานว่า กัมพูชา ที่รับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ออกมาเตือนว่า เมียนมามีครบทุกองค์ประกอบพร้อมสำหรับสงครามกลางเมือง โดยเป็นเสียงตือนที่มีขึ้นก่อนหน้าที่สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางเยือนประเทศเมียนมาระหว่างวันที่ 7-8 มกราคมนี้ เพื่อมุ่งดับวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมา
ความเห็นนี้มาจากนายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ที่กล่าวปาฐกถาในงานซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียอาคนเย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ เตือนว่า แนวโน้มในเมียนมานั้นเลวร้ายมาก โดยวิกฤตการเมืองและความมั่นคงกำลังถลำลึกและนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณสุขและมนุษยธรรมในประเทศ
“เรารู้สึกว่าทุกองค์ประกอบมีพร้อมสำหรับสงครามกลางเมืองในขณะนี้” รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าว และว่า ตอนนี้เมียนมามีสองรัฐบาล มีกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ประชาชนกำลังเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ขบวนการอารยะขัดขืน” และมีการทำสงครามกองโจรขึ้นทั่วประเทศ
นายปรักยังปฏิเสธเสียงวิจารณ์ถึงการเดินทางเยือนประเทศเมียนมาครั้งนี้ของสมเด็จฯฮุน เซน ที่จะมีขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครองทหารเมียนมา ขณะเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า กัมพูชามุ่งเน้นความสนใจไปที่การปรับปรุงสถานการณ์ในเมียนมา โดยความพยายามต่างๆ จะยังคงมุ่งไปที่กระบวนการสันติภาพและฉันทามติ 5 ข้อ ที่ผู้นำอาเซียนได้บรรลุความเห็นพ้องร่วมกันไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา
รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชากล่าวอีกว่า การเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้ มุ่งหมายที่จะปูทางไปสู่ความก้าวหน้าด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การเจรจาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและมีความไว้วางใจกันทางการเมืองระหว่างทุกฝ่ายที่มีความห่วงวิตก
นายปรักยังชี้ถึงผลของวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมาว่า ได้ส่งนัยอันเลวร้ายต่อเสถียรภาพ ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อและความเป็นเอกภาพของอาเซียนด้วย อย่างไรก็ดี กัมพูชากำลังดำเนินความพยายามที่จะทำให้ผู้ปกครองทหารเมียนมาได้กลับเข้าร่วมในเวทีการประชุมหารือของอาเซียนอีกครั้ง
ทั้งนี้เมียนมาตกอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งเลวร้าย หลังจากกองทัพภายใต้การนำของพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ปี 2564 จนจุดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากประชาชน แต่ก็ถูกกองทัพเมียนมาใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปราม ส่งผลให้มีพลเรือนผู้ประท้วงถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 1,400 ราย