รีเซต

พิชัย ชี้เหตุไทยเลื่อนเจรจาสหรัฐ เหตุทบทวนให้วิน-วิน ย้ำมีเวลาเตรียมมาตรการพร้อม

พิชัย ชี้เหตุไทยเลื่อนเจรจาสหรัฐ เหตุทบทวนให้วิน-วิน ย้ำมีเวลาเตรียมมาตรการพร้อม
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2568 ( 15:48 )
7

คืบหน้าการเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้ของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา หลังจากมีการเลื่อนวันกำหนดเดิม 23 เมษายน 2568 ออกไป รัฐบาลยืนยันว่าเป็นการขยับเวลาออกไปเพื่อกลับมาทบทวนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดเนื่องจากมีข้อมูลใหม่เงื่อนไขเพิ่มเติมเข้ามา 


โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ  เผยสาเหตุการเลื่อนเจรจากับสหรัฐว่า มีการขยับกำหนดเวลาการไปเยือนสหรัฐอเมริกาจากเดิม เพื่อหารือเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนที่สุด  แต่ย้ำว่าในระดับการปฏิบัติการนั้นไม่ได้หยุดตามไปด้วย ยังคงมีการทำงานคู่ขนานระหว่างคณะทำงานที่เดินทางอยู่ต่างประเทศ และในประเทศที่ต้องทำข้อมูลในการหารือให้ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การหารือระดับสูง รวมถึงการนัดวันเพื่อเจรจาด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าการหารือต้อง Win-Win หรือได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายระหว่างสหรัฐและไทยอย่างแน่นอน


นายพิชัย กล่าวว่า จากกำหนดช่วงเวลาการระงับใช้ภาษีตอบโต้  90 วัน ตอนนี้เวลาเหลือแค่ 70 กว่าวันแล้ว แต่ก็มีข้อมูลเข้ามาเรื่อย ๆ มีเงื่อนไขเพิ่มเติมเข้ามา และจะต้องดูประเทศที่มีขนาดของการค้าที่ใหญ่กว่าไทย ด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ไปนัดอีกครั้ง และยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงวันนี้ตอบยาก ทำให้ไม่มั่นใจว่า สหรัฐต้องการอะไร  แม้กระทั่งตอนนี้ผ่านมาล้วเกิน 10 วัน แต่พบว่ามีประเทศที่ได้คุยกับสหรัฐจริง เพียงแค่ประเทศเดียวเท่านั้น 

ดังนั้นการนัดวันเพื่อเจรจาเรื่องนี้ จึงต้องดูเวลาให้เหมาะสม คือ อย่าเร็วอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดีหรือช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี ซึ่งเหมาะสมที่สุด เพราะต้องดูด้วยว่าหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลาง ๆ เกือบท้ายเราจะได้รู้ว่า ควรจะทำอย่างไร  ซึ่งทางการสหรัฐอยากให้ทุกคนหารืออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะจัดคิวอย่างไรเท่านั้น  


ขณะเดียวกันทางรัฐบาล ได้เตรียมการเพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปฏิรูปด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์  และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วสำหรับมาตรการต่างๆ ตอนนี้ให้โจทย์และการบ้าน ต้องตามอยู่แล้วว่า กลุ่มไหนน่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนเรื่องของปฏิรูป ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดกับทุกคน สิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูป หลักเกณฑ์ กติกาการนำเข้าให้มีความชัดเจน รวดเร็ว โปร่งใส


ทั้งนี้สหรัฐยังติดตามด้วยว่าแต่ละประเทศว่ามีการแทรกแซงค่าเงินของตนเองหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่ได้มองไทยว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน เพียงหวังว่าแต่ละประเทศจะไม่ทำ


ส่วนกรณีการพิจารณาเรื่องการกู้เงินหรือขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า การพิจารณาเพดานหนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องคิด แต่ตอนนี้ยังไม่มีโจทย์ที่ชัดเจน จึงต้องขอประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อนว่า จากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วถ้าทำแล้วจะเกิดผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงานด้วยหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง