รีเซต

นายกฯ รับมอบ “ครอบพระเศียรทองคำ-เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี”

นายกฯ รับมอบ “ครอบพระเศียรทองคำ-เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี”
มติชน
14 มิถุนายน 2565 ( 10:46 )
96
นายกฯ รับมอบ “ครอบพระเศียรทองคำ-เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี”

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 14 มิถุนายน ที่โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์การรับมอบโบราณวัตถุเพื่อเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

 

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชม “ครอบพระเศียรทองคำ” ที่รับคืนมาจากสหรัฐอเมริกาและโบราณวัตถุ “เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์” หลังจากนั้น ได้รับมอบสมุดบัญชีโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจำนวน 164 รายการ และมอบประกาศเกียรติคุณผู้มอบโบราณวัตถุแก่กรมศิลปากรให้กับนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ ซึ่งเป็นผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุให้แก่นายกรัฐมนตรีในนามของรัฐบาล เพื่อเป็นสมบัติของชาติ

 

ประกอบด้วยโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ มูลค่า 83 ล้านบาท โดยกรมศิลปากรจะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมและศึกษาหาความรู้ตามเจตนารมณ์ของผู้มอบ

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณ ในนามของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้รับมอบโบราณวัตถุไว้เพื่อให้เป็นสมบัติของคนไทยต่อไปเพราะเป็นมรดกอันล้ำค่า และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดจนมีคุณค่าทั้งทางวิชาการและทางจิตใจที่ได้เก็บรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชนไทยในอดีตรวมถึงอัตลักษณ์ชาติไทย และยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนละเอียดอ่อน ละเมียดละไม ความเพียร ความพยายามซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยอดีต ขอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ความเป็นคนไทยที่ใช้เวลาเรียนรู้พัฒนาสะสมผ่านหลายช่วงเวลา

 

นอกจากนี้ยังแสดงถึงอารยธรรมไทยที่มีความเจริญมาอย่างยาวนาน ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจและเป็นแบบอย่างที่ดี กระตุ้นเตือนให้ประชาชนและคนรุ่นหลังรักและหวงแหนในมรดกของชาติ ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณีที่ทำให้คนไทยและประเทศไทยอยู่ได้จนทุกวันนี้

 

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน อธิบดีกรมศิลปากร เป็นเลขานุการ ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนร่วมกันดำเนินงานโดยใช้วิธีทางการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ

 

เป็นผลของการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุในครั้งแรก จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ รับกลับคืนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ส่วนอีก 8 ครั้ง จำนวน 609 รายการ เป็นการประสานงานร่วมกันของกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศกับส่วนราชการประเทศต่าง ๆ ช่วยตรวจสอบและแจ้งส่งมอบโบราณวัตถุไทยกลับคืน ได้แก่ โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุประเภทรูปเคารพ รวมถึงครอบพระเศียรพระพุทธรูปทองคำ และโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผา ศิลปะลพบุรี จำนวน 164 ชิ้น ซึ่งผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯได้สร้างกระแสความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ให้เห็นคุณค่าของโบราณวัตถุหากได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด โดยมีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งในประเทศและนอกประเทศ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุแก่รัฐบาลไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับครอบพระเศียรทองคำ มูลค่า 1 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบจากชาวอเมริกัน ครอบพระเศียรทองคำนี้มีเนื้อทองคำ 95 เปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ประกอบด้วยส่วนครอบพระเศียรกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 17.6 เซนติเมตร น้ำหนัก 12.7 กรัม และส่วนพระรัศมีสูง 12.7 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร น้ำหนัก 28.9 กรัม เทคนิคดุนทองและตีทอง ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนิยมใช้ประดับพระเศียรพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน และนำส่งมอบให้กรมศิลปากรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง