รีเซต

โควิด-19 : แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลอาศัยสถานการณ์โรคระบาดเป็น "ข้ออ้าง" ปราบปรามผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์

โควิด-19 : แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลอาศัยสถานการณ์โรคระบาดเป็น "ข้ออ้าง" ปราบปรามผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์
บีบีซี ไทย
23 เมษายน 2563 ( 12:56 )
296
1
โควิด-19 : แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลอาศัยสถานการณ์โรคระบาดเป็น "ข้ออ้าง" ปราบปรามผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์

Getty Images
แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวสำหรับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดหวังว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์จะเบาบางลงหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แต่รายงานฉบับล่าสุดพบว่าผู้เห็นต่างจากรัฐบาลยังคงถูกดำเนินคดีและปราบปรามอย่างหนักตลอดหนึ่งปีหลังการเลือกตั้ง โดยสถานการณ์ "เลวร้ายลง" หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

 

แอมเนสตี้ฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเปิดตัวรายงานชื่อ "มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย" (They are always watching) วันนี้ (23 เม.ย.) ระบุว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "ใช้กฎหมายที่เขียนอย่างกำกวมและให้อำนาจอย่างกว้างขว้างมากขึ้น" เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายสิบคนที่วิจารณ์รัฐบาลนับตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

 

รายงานฉบับนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ที่ก่อตั้งโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อเดือน พ.ย.2562 ซึ่งแอมเนสตี้ฯ มองว่าเป็นกลไกของรัฐในการกำหนดเนื้อหาการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย ตั้งตัวเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานในการต่อสู้กับ "ข่าวปลอม" นำมาสู่การดำเนินคดีผู้ที่โพสต์เนื้อหาในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว จนอาจทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์

 

 

ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันกับบีบีซีไทยว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จที่ถูกเผยแพร่อยู่ในสังคมออนไลน์ และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว

 

"เราไม่ได้เป็นคนกำหนดหรือชี้นำประเด็นการถกเถียงในโลกออนไลน์ และเราแทบไม่ได้ชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐบาลเลย เพราะศูนย์ฯ นี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องหรือแก้ต่างให้รัฐบาลหรือแก้ข่าวให้บุคคลในรัฐบาล" นายพุทธิพงษ์ระบุ

 

"มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ"

รายงานแอมเนสตี้ฯ ฉบับนี้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการทั้งหมด 18 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีและพูดคุยกับทนายความที่ทำงานในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพบนโลกออนไลน์

 

ชื่อรายงาน "มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ" มีที่มาจากข้อความในทวีตของนักศึกษาสาวธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมเมื่อเดือน พ.ย.2562 หลังจากเธอโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ในทวิตเตอร์และมีผู้แชร์กว่า 60,000 ครั้ง หลังจากถูกสอบปากคำและถูกตักเตือนว่าจะถูกดำเนินคดีหากโพสต์ข้อความลักษณะดังกล่าวอีกในอนาคต นักศึกษาสาวได้รับการปล่อยตัว

 

ข้อความสุดท้ายที่เธอโพสต์ก่อนลบบัญชีทวิตเตอร์ไประบุว่า "อยากให้ทุกคนที่คิดก่อนที่จะทวีตและรีทวีต พวกเขาเฝ้าดูอยู่เสมอ"

Getty Images

นักศึกษา มธ.คนนี้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกควบคุมตัว จับกุมและดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า บุคคลที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีมีทั้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแอมเนสตี้ฯ ได้รวบรวมไว้ในรายงานฉบับนี้เป็นหลักฐานของการ "ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างเป็นระบบ" ที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศและดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19

 

"ผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักในสังคม เชื่อว่ารัฐเลือกดำเนินคดีกับผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้เพื่อข่มขู่ให้คนอื่นกลัว" ผอ.แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต

 

กรณีที่แอมเนสตี้ฯ รวบรวมไว้มีดังนี้

 

  • เมษายน 2559 นักกิจกรรม 8 คน ในกรุงเทพฯ และขอนแก่นถูกจับกุมฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊ก "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งเป็นเพจเชิงเสียดสี การจับกุมเกิดขึ้นสองสัปดาห์หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสาธารณชนว่า เขาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับบุคคลใดก็ตามที่ล้อเลียนเขาบนสื่อสังคมออนไลน์
  • ธันวาคม 2559 นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมและนักศึกษา ถูกควบคุมตัวและต่อมาถูกตัดสินลงโทษเนื่องจากแชร์บทความบีบีซีไทยเกี่ยวกับประวัติพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบนเฟซบุ๊กของเขา
  • เมษายน 2560 นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความและนักกิจกรรมอีกหลายคนที่แชร์โพสต์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ และนายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ นักข่าว ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยทหารก่อนถูกนำตัวขึ้นศาลในกรุงเทพฯ
  • สิงหาคม 2560 นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าว ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และความล่าช้าในการจัดการเลือกตั้ง และถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จออนไลน์

 

Getty Images
  • สิงหาคม 2561 ฝ่ายกฎหมายของ คสช.แจ้งความนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้บริหารพรรคอีกสองคนในข้อหา "นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักร" ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์รัฐบาล พร้อมทั้งกล่าวว่าพรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์ทางทหารกำลังสรรหาสมาชิกใหม่จากพรรคอื่น โดยการติดสินบนและข่มขู่พวกเขา
  • มีนาคม 2562 ตำรวจแจ้งความบุคคล 9 คน ข้อหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากข้อความที่พวกเขาโพสต์บนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 คน ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และอ้างว่ามีบัตรเลือกตั้งผิดกฎหมายประมาณ 600,000 ใบ
  • มีนาคม 2562 ฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในข้อหาหมิ่นศาลและกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการวิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

 

  • เมษายน-พฤษภาคม 2562 ฝ่ายกฎหมายของ กกต.แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักกิจกรรม 7 คนที่สร้างแคมเปญรณรงค์ออนไลน์บนเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดสมาชิก กกต.ออกจากตำแหน่งท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ข้อผิดพลาดในการนับคะแนนและความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

 

  • มิถุนายน 2562 เจ้าหน้าที่จากมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) แจ้งความ ผศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ข้อหา นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน จากโพสต์ข้อความเชิงล้อเลียนทหารว่ามาร่วมเดินขบวนกับประชาชนเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง เหตุเกิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2562

 

  • กรกฎาคม 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "สุชานันท์" ถูกจับพร้อมกับอีก 13 คน กรณีโพสต์รูปถ่ายและแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เบื้องหลังการทำร้ายร่างกายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" นักกิจกรรมทางการเมือง อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง "สุชานันท์" โดยกล่าวหาว่าข้อความดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกและอาจก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายต่อความมั่นคง

 

  • ตุลาคม 2562 ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งความคดีอาญาต่อกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรม ข้อหากระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการที่เขาแสดงความเกี่ยวกับการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ยุโรปในอดีต ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นในช่วงที่แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ กำลังติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทย
BBC
ภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือของนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ที่แสดงข้อความ SMS ที่ได้รับจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า RoyalPalace หลังจากเขาโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

  • กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์อายุ 20 ปีซึ่งใช้นามแฝงว่า "นิรนาม" ถูกจับกุมที่บ้านในพัทยา จ.ชลบุรี ภายหลังเขาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 14 (3) แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ พร้อมทั้งความคิดเห็นในลักษณะเสียดสี
  • มีนาคม 2563 นายดนัย อุสมา ศิลปินวัย 42 ปีหรือที่รู้จักกันในชื่อ "Zen Wide" ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากสเปน ถูกจับกุมที่ จ.ภูเก็ต หลังจากเขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กทำนองว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่มีการคัดกรองโรคโควิด-19 เขาถูกดำเนินคดีข้อหา "นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะ...ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน"

 

แคลร์ อัลแกร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าการคุกคามและดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ที่มีเป้าหมายเพื่อปิดปากผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากตน

 

"การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่น่าละอายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยผู้ที่กล้าตั้งคำถามกับพวกเขา การปราบปรามยิ่งหนักข้อมากขึ้น เนื่องจากดูเหมือนว่าทางการได้ใช้โอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้าง เพื่อกำจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เขาระบุ

 

กฎหมาย 3 ฉบับ

ผอ.แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยกล่าวว่าการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว สยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการดำเนินคดีผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์นั้น รัฐบาลมีเครื่องมือหลักคือกฎหมายที่เขียนอย่างกำกวมให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง และ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ที่เธอมองว่าดำเนินการเพื่อปกป้องรัฐบาลมากกว่าประโยชน์สาธารณะ

 

เธอกล่าวว่า มีกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับที่ทำให้การแสดงความเห็นทางออนไลน์กลายเป็น "อาชญกรรม" และ ที่มักถูกนำมาใช้ ได้แก่

  • พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2559 ให้อำนาจทางการในการตรวจสอบและปราบปรามเนื้อหาออนไลน์ และดำเนินคดีกับบุคคล
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี, มาตรา 326 ถึง 333 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่คุมขังบุคคลที่ทำให้เจ้าหน้าที่ "เสื่อมเสียเกียรติยศ"
  • พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศใช้ทั่วประเทศเมื่อ 26 มี.ค. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยมาตรา 9 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเซ็นเซอร์หรือแก้ไขข้อความที่ถูกมองว่าเป็นเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือความเข้าใจผิดต่อประชาชน และกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี

 

แอมเนสตี้ฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าช่วงปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้ "ว่างเว้นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกมองว่าวิจารณ์ราชวงศ์ แต่รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายอย่างอื่นเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน" กล่าวคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตร 116

 

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

นอกจากกฎหมายที่ "เปิดช่อง" ให้ดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์แล้ว แอมเนสตี้ฯ มองว่าการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมซึ่งริเริ่มและอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ ยังมีส่วนทำให้การกำจัดเสียงวิจารณ์รัฐบาลและปราบปรามผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์เป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น

 

แอมเนสตี้ฯ ระบุในรายงานว่าการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นส่วนหนึ่งของ "การพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อกำหนดเนื้อหาการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย"

 

"นักกิจกรรมหลายคนมีข้อกังวลว่า การมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอาจนำไปสู่การโต้ตอบบุคคลที่รายงานข้อมูลเท็จที่ตัวแทนรัฐบาลเป็นผู้โพสต์" รายงานระบุ

 

ขณะที่ปิยนุช ผอ.แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยให้ความเห็นเพิ่มเติมกับบีบีซีไทยว่า มาตรการต่อต้านข่าวปลอมของรัฐอาจเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้ในการจัดการคนที่เห็นต่าง

 

"ดังนั้นคนที่จะตรวจสอบว่าอะไรเป็นข่าวปลอมควรเป็นหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นกลางและน่าเชื่อถือ เช่น ในเยอรมนีใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยสถานีโทรทัศน์กับบริษัทซอฟต์แวร์ หรือใช้องค์กรที่เป็นอิสระ" เธอเสนอ แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญพอที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว

 

Getty Images

ปิยนุชแสดงความกังวลว่าหากสถานการณ์การปราบปรามผู้เห็นต่างและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในโลกออนไลน์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จำนวนประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่กับบรรยากาศแห่งความกลัวที่เข้มข้นขึ้นจนถึงระดับหนึ่งที่ประชาชนรู้สึกอึดอัดจนเลือกที่จะแสดงออกบนท้องถนน เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนกลายเป็นความรุนแรงครั้งใหม่ได้

 

เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดนั้น แอมเนสตี้ฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐบาลไทยและรัฐสภา คือ

-ยุติกระบวนการทางอาญาทั้งหมดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว นักการเมือง และบุคคลอื่น ผู้ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ พร้อมทั้งปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

-ยุติการฟ้องร้องคดีทางอาญาต่อบุคคลเพียงเพราะการแสดงออกออนไลน์

-ยุติการมีส่วนร่วมของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและในการดำเนินงานตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลาง ถ่วงดุล และเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบกรณีร้องเรียนข้อเท็จจริงใดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย

-สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยปราศจากการข่มขู่ คุกคาม จับกุม หรือดำเนินคดี

-รัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและการแสดงออกออนไลน์

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ : "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องรัฐบาล"

บีบีซีไทยสัมภาษณ์นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ต่อกรณีที่รายงานแอมเนสตี้ฯ ได้พาดพิงถึงการทำงานของศูนย์ข่าวปลอม ซึ่งนายพุทธิพงษ์อธิบายดังนี้

 

"การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทย แม้จะเริ่มต้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็จริง แต่หลักการ เหตุผลและการดำเนินการเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่ง 80 เปอร์เซนต์ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนจากสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ฝ่ายวิชาการ

 

การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเราใช้ระบบ fact-checking คือเมื่อมีข้อมูลออกมา เราต้องไปตรวจสอบ ศูนย์ฯ ไม่สามารถคิดเองเออเองได้ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือปลอม แต่เมื่อมีแนวโน้มว่าคนแชร์ออกไปเยอะก็จะหยิบข้อมูลชิ้นนั้นมาตรวจสอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ หากพบว่าข้อมูลไม่เป็นความจริงก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเรามาด้วย โดยเราขอให้ตอบกลับมาภายใน 2 ชั่วโมง จากนั้นทางศูนย์ฯ จึงนำมาทำอินโฟกราฟิก ส่วนข้อมูลไหนที่เรายังไม่ได้รับคำยืนยันจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เราก็จำเป็นต้องทิ้งไว้ก่อน

 

ขอยืนยันว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ศูนย์ฯ เสนอนั้น เราไม่ได้เป็นคนกำหนดหรือชี้นำ

 

เราแทบจะไม่ได้ชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐบาลเลย เช่น ข้อมูลที่เป็นการวิจารณ์รัฐบาล ศูนย์ฯ ของเราจะไม่ตอบโต้และไม่ได้หยิบมาชี้แจงเลย เพราะศูนย์ฯ นี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องหรือแก้ต่างให้รัฐบาลหรือแก้ข่าวให้บุคคลใดในรัฐบาล เราจะเน้นที่การตรวจสอบข้อมูลในเรื่องที่ประชาชนสนใจจริง ๆ เช่น ภัยพิบัติ โรคระบาด เรื่องสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค อาจมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลบ้างก็ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการนำนโยบายของรัฐบาลไปบิดเบือนทำให้เกิดการเข้าใจผิด เช่น มาตรการเยียวยาโควิด-19 ที่เมื่อนำไปบิดเบือนแล้วจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

 

ในเรื่องของการดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์นั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของตำรวจและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่เป็นฝ่ายดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล กระทรวงฯ มีหน้าที่ให้ข้อมูลหลักฐานตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอมาเพื่อใช้ประกอบสำนวนดำเนินคดีผู้ที่ตั้งใจเผยแพร่ข่าวปลอมหรือนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบ ทั้งหมดเป็นเรื่องของตำรวจ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและกระทรวงฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยในการชี้ว่าคนไหนกระทำความผิด เป็นเรื่องที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง