รีเซต

อังกฤษพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง รองรับผู้โดยสาร 44 ที่นั่ง

อังกฤษพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง รองรับผู้โดยสาร 44 ที่นั่ง
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2566 ( 13:18 )
45
อังกฤษพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง รองรับผู้โดยสาร 44 ที่นั่ง

บริษัท ไลท์ เอวิเอชัน (Lyte Aviation) สตาร์ตอัปด้านอากาศยานในประเทศอังกฤษเตรียมพัฒนาเครื่องบินโดยสารพลังงานไฮโดรเจนที่สามารถบินขึ้นและลงจอดได้ในแนวดิ่ง (VTOL) ชื่อว่า SkyBus สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 44 ที่นั่ง บินด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีพิสัยการบินมากกว่า 1,000 กิโลเมตร


เครื่องบิน สกายบัส (SkyBus) ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับเครื่องบินไอพ่นชั้นธุรกิจโครงสร้างถูกเคลือบด้วยโครเมียมเพื่อป้องกันการสึกกร่อนได้ง่าย ๆ ระบบขับเคลื่อนใช้ใบพัดทั้งหมด 8 ชุด ติดตั้งบนปีกทั้งสองข้าง ใบพัดสามารถปรับมุมเอียงเพื่อช่วยในการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง (VTOL) รวมไปถึงการบินด้วยความเร็วบนท้องฟ้า


เครื่องบินรุ่นนี้ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบไฮบริดผสมระหว่างเครื่องยนต์น้ำมันและเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน สำหรับเครื่องยนต์น้ำมันนั้นใช้เครื่องแบบเทอร์โบพร็อปเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น รองรับทั้งแบบเชื้อเพลิงปกติและเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน เครื่องยนต์มีกำลังสูง 3,500 - 5,000 แรงม้า ส่วนพลังงานไฮโดรเจนใช้พลังงานกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้ขับเคลื่อนใบพัด โดยมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถทำความเร็วการหมุนได้สูงสุด โดยไม่ต้องใช้เวลานานแบบระบบเผาไหม้เชื้อเพลิง


สำหรับจุดเด่นของเครื่องบิน สกายบัส (SkyBus) อยู่ตรงที่การบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้สนามบินที่มีรันเวย์ยาว นอกจากนี้ยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 44 ที่นั่ง ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองในราคาที่คุ้มค่ามากพอสำหรับเปิดให้บริการของสายการบินขนาดเล็ก


ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่บริษัทนำมาใช้งานมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทวางแผนการสร้างเครื่องต้นแบบในช่วงปี 2024 และเตรียมทดสอบบินครั้งแรกในปี 2025 


แนวคิดของเครื่องบินโดยสารที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัท จีเคเอ็น (GKN Aerospace) ในประเทศอังกฤษ ได้พยายามพัฒนาเครื่องบินลักษณะคล้ายกับสกายบัส (SkyBus) สามารถบินขึ้นและลงจอดโดยใช้ใบพัด 6 ชุด รองรับผู้โดยสารได้ 30-50 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้ของทั้ง 2 บริษัท ดูล่าช้าและยังต้องการพัฒนาอีกหลายอย่าง


สำหรับแผนการวางจำหน่ายบริษัท ไลท์ เอวิเอชัน (Lyte Aviation) ได้เริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจสั่งจองล่วงหน้าแล้ว โดยบริษัทได้ลูกค้ารายแรกเป็นสายการบินวีแมน (Vman Aviation Services) ในประเทศอินเดีย โดยมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว 10 ลำ ในราคาประมาณลำละ 428 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15,224 ล้านบาท



ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ lyteaviation  



ข่าวที่เกี่ยวข้อง