บราซิล จัดประชุมกลุ่ม BRICSไม่มี“ปูติน-สี จิ้นผิง”

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะไม่เข้าร่วมการประชุม BRICS โดยตรง แต่จะเข้าร่วมการประชุมผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดBRICS ในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ปธน.สีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีดังกล่าวนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2556 หรือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนจีนเข้าร่วมการประชุมBRICS ในครั้งนี้ หลังจากที่เคยเป็นตัวแทนของจีนในการประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลีในปี 2566
โดยทางการจีนแจ้งสาเหตุของการที่ปธน.สีไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมBRICS ในครั้งนี้เนื่องจากติดภารกิจอื่น
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่บราซิลมองว่าอาจมีเหตุผลอื่นอยู่เบื้องหลัง โดยมีการมองว่าการที่บราซิลเชิญนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบรัฐพิธี อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปธน.สีตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ด้านเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า ปธน.สีและปธน.ลูลาได้พบปะกันมาแล้วถึง 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ปธน.สีได้เยือนกรุงบราซิเลียในเดือนพ.ย.2566 และในการประชุม China-CELAC ที่กรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.2567 ทำให้จีนมองว่าการพบกันตัวต่อตัวระหว่างปธน.สีและปธน.ลูลาอีกครั้งอาจไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม บราซิลยังคงมองว่าการไม่เข้าร่วมของปธน.สีถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญของจีน โดยนายเซลโซ อาโมริม ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการระหว่างประเทศของปธน.ลูลา ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บราซิลจะเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดBRICS ครั้งที่ 17 โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุข การค้า การลงทุน การเงิน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงประเด็นสันติภาพและความมั่นคง
ทรัมป์ลั่น ประเทศสนับสนุนกลุ่มบริกส์ เจอภาษีเพิ่ม 10%
ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ระบุผ่านบัญชีทรูซโชเซียลว่า ประเทศที่สนับสนุน "นโยบายต่อต้านอเมริกา" ของกลุ่มบริกส์ จะถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 10% พร้อมกล่าวว่า "ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ ขอขอบคุณที่รับฟัง!" ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ได้กล่าวอย่างแน่ชัดว่า นโยบายต่อต้านอเมริกานั้นหมายถึงอะไร
โดยดั้งเดิม สมาชิกกลุ่มบริกส์ประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ซึ่งได้มีการประชุมสุดยอดครั้งแรกเมื่อปี 2009 ต่อมาจึงได้เพิ่มแอฟริกาใต้เข้าเป็นสมาชิก ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา อียิปต์, เอธิโอเปีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ด้วย
สำหรับไทย ได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ และเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกรอบความร่วมมืออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม
ในขณะเดียวกัน ทรัมป์กล่าวว่า สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประเทศหุ้นส่วนทางการค้าได้บ้างแล้ว และจะส่งหนังสือแจ้งประเทศอื่นๆ ในเรื่องอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นต่อไป
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
