รีเซต

10 ข่าวเด่นแห่งปี ลำดับที่ 8/10 คุยกับ "หมอยง" พยากรณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ปี 2022 ขาลงจริงหรือ?

10 ข่าวเด่นแห่งปี ลำดับที่ 8/10 คุยกับ "หมอยง" พยากรณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ปี 2022 ขาลงจริงหรือ?
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2564 ( 05:12 )
159

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มวลมนุษยชาติเผชิญกันมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 300 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว กว่า 5 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564) ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจก็ต้องเจอปัญหาการปิดประเทศ ล็อกดาวน์ ส่งผลให้ธุรกิจที่สู้ไม่ไหวต้องล้มพับกันเป็นแถว

ในวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 และยังเกิดสายพันธ์ุใหม่ๆ ขึ้นมาอีก สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป จะจบลงเมื่อไร โควิด-19 จะหายไปจากโลกนี้หรือไม่

ทีมข่าว TNN ONLINE ได้เชิญ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติทางด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ มาร่วมวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ในปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป…



โควิด-19 จบได้ใน 1 ปี แต่ไทยจะเสียชีวิตถึง 700,000 คน!

ศ.นพ.ยง ประเมินสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา 2 ปี โดยระบุว่า ต้องยอมรับว่าโลกนี้กำลังยื้อ กับไวรัสอยู่หากโควิด-19 เกิดขึ้น เมื่อร้อยกว่าปีก่อน อย่าง “ไข้หวัดใหญ่สเปน” โดยการระบาด ขณะที่ไม่มีวัคซีน ประชาชนไม่หนาแน่น การระบาดของโรคเพียงปีเดียวเท่านั้น ก็จบ และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 

เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วคนจะติดเชื้อ แล้วเกิดภูมิต้านทานขึ้นตามธรรมชาติ แต่ความสูญเสียเยอะ สำหรับประเทศไทยในตอนนั้น (ปี 2461 มีประชากร 8 ล้านคน) มีผู้เสียชีวิต 80,000 กว่าคน อัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 1% ของประชากรทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน เมื่อดูสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ หากไม่มีการมาตรการใดๆ ปล่อยให้เกิดการติดเชื้อ ตามธรรมชาติ จะทำให้โรคสงบภายในระยะเวลา 1 ปี โดยคนส่วนใหญ่จะติดเชื้อ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว ถ้าอัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 1% ของประชากร จะทำให้ไทยมีผู้เสียชีวิตถึง 700,000 คน



มนุษยชาติกำลังยื้อเวลา ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิฯ เหมือนกับการติดเชื้อในธรรมชาติ

ศ.นพ.ยง เผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพยายามยื้อเวลา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคโควิด-19 การเกิดภูมิต้านทานเกิดขึ้นได้ 2 วิธี คือ การติดเชื้อโดยธรรมชาติ และจากวัคซีน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องรีบคิดค้นวัคซีนให้เร็วที่สุด จึงออกมาเป็นวัคซีนในรูปแบบต่างๆ ที่จะมาทดแทนการติดเชื้อตามธรรมชาติ

เราเสียเวลา 1 ปี ในการคิดค้นวัคซีน พอเข้าปีที่ 2 เป็นการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยประชากรโลกมีถึง 7,000 กว่าล้านคน แต่วัคซีนนั้น เพิ่งจะฉีดไปเกือบ 9,000 ล้านโดส ซึ่งหากจะต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะต้องฉีด 15,000 ล้านโดส แสดงว่าการดำเนินการฉีดวัคซีนในปีที่ 2 ของการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ครอบคลุม และยังพบว่า ภูมิต้านทานของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วเริ่มตกลง จึงต้องฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ต่อ

สำหรับในปีที่ 3 ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกจึงต้องตามหาคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน พร้อมกับฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ให้กับคนที่ฉีดครบ 2 เข็ม โดยในปีหน้าจะต้องเพิ่มภูมิต้านทาน เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่โดยการฉีดวัคซีนเข็ม 3


ไทม์ไลน์โรคโควิด-19 เดินมาถึงครึ่งทาง ต่อไปอยู่ในช่วงขาลง จริงหรือ?

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ณ วันนี้ ศ.นพ.ยง มองว่า เราควรจะมาได้ครึ่งทางแล้ว น่าจะอยู่ขาลงไปเรื่อยๆ เห็นได้ชัดว่าในปีแรก อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 3-5% ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ เมื่อเข้าปีที่สอง อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 2% ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ 

ส่วนในปีที่สาม เชื่อว่า อัตราการเสียชีวิตจะลดลงมาน้อยกว่า 1% ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดโรคนี้จะอยู่กับเรา เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดในประเทศไทย พบผู้ป่วยเสียชีวิต 100-200 คนต่อปี 

เมื่อเข้าปีที่สี่ อาจจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สามารถเริ่มยอมรับได้ อาจจะหลักพันคนต่อปี เมื่อเข้าปีที่ห้าหรือหก อาจจะเหลือผู้เสียชีวิตเท่ากับโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานมากขึ้น ทั้งจากการรับวัคซีนและจากการติดเชื้อ มาช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง

 


พยากรณ์ปี 65 ทั่วโลกยังต้องสู้ต่ออีกปี หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น

“ถ้าให้ผมพยากรณ์ มองว่าปีหน้าเรายังต้องต่อสู้กับโควิด-19 ไปอีกปี และปีต่อไปจะดีขึ้น ซึ่งปีหน้าจะเริ่มเบากว่าปีที่สองแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิต้านทานแล้ว แต่ถ้าจะทำให้โรคนี้เป็นศูนย์ ไม่มีเคสผู้ป่วยเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ 

เพราะฉะนั้นเราจะต้องอยู่ด้วยกันกับโรค ในแนวทางที่ว่าทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสอาศัยร่างกายเราได้ แต่จะต้องไม่สร้างภาระให้เรา ให้เป็นแค่ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ให้เป็นเพียงแค่โรคทางเดินหายใจปกติที่เคยเป็นกัน เด็กเกิดรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานก็จะเกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อในเด็กจะมีอาการน้อยเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านการติดเชื้อมาแล้วก็จะมีภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ 

ปีต่อๆ ไป หากเราเคยติดเชื้อ แล้ว 1 ครั้ง หรือ 2-3 ครั้ง ต่อไปภูมิต้านทานของร่างกายจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อภูมิดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เหมือนกับโรคทางเดินหายใจที่เป็นในเด็กเยอะ เพราะว่าเด็กยังไม่มีภูมิ เมื่อติดหลายครั้งพอโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีภูมิต้านทาน ก็จะไม่เดือดร้อนกับการป่วยเพราะไม่มีอาการ แต่จะไปเดือดร้อนอีกครั้งในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น ตอนเป็นผู้สูงวัย หรือกลุ่มเปราะบาง” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ให้ความเห็น



ตอบชัดๆ ปี หน้าโลกยังต้องเจอโควิด-19 กลายพันธ์ุอีกหรือไม่?

คำถามที่หลายคนอยากจะรู้ นั่นคือ พัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปีหน้าจะเจอการกลายพันธ์ุอีกหรือไม่ และจะรุนแรงแค่ไหน?

ศ.นพ.ยง ตอบว่า เชื้อไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธ์ุอยู่ตลอดเวลาทุก 3-4 เดือน สายพันธ์ุไหนแพร่เร็วก็มาแทนที่สายพันธ์ุเก่า ด้วยหลักการแล้วต่างต้องปรับตัวเข้าหากัน ทั้งมนุษย์ ทั้งไวรัส โดยมนุษย์ก็เพิ่มภูมิต้านทานเพื่อลดความรุนแรงลง และตามหลักวิวัฒนาการแล้วจะต้องอยู่ด้วยกันได้ พอไปถึงช่วงเวลาหนึ่ง จะอยู่ในจุดสมดุลเอง

สำหรับกลุ่มโคโรนาไวรัส มีในมนุษย์มาก่อน เช่น ไวรัสอัลฟ่าโคโรนา 229E และ NL63 ไวรัสเบต้าโคโรนา OC43 และ HKU1 เหล่านี้ทำให้เกิดหวัดในเด็ก พบได้ประมาณ 4% ต่อไปในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าโคโรนา 2019 ก็จะเป็นตัวที่ 5 แต่ไม่ได้หมายความว่า ตัวที่ 1-4 จะหายไป แต่ยังคงอยู่ต่อไปไม่ได้เป็นการแทนที่ แต่เป็นเชื้ออีกตัวหนึ่งที่อยู่ในโรคทางเดินหายใจ ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นได้ยังต้องใช้เวลา

“ถามว่า โควิด-19 จะกลายพันธ์ุรุนแรงขึ้น กว่าเดิมหรือไม่นั้นคงตอบไม่ได้ แต่ตามหลักวิวัฒนาการ ควรจะมีการปรับตัวให้อยู่ได้ทั้งสองฝ่าย ระหว่างมนุษย์และไวรัส หากมนุษย์อยู่ไม่ได้ ไวรัสก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน ที่ผ่านมาอย่างไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ยังคงอยู่แต่ความรุนแรงลดลงจนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา อธิบาย



พัฒนาการวัคซีนต้านโควิดปีหน้า ต้อง “ปลอดภัย” มากกว่านี้

ศ.นพ.ยง เผยว่า ปัจจุบันวัคซีนออกมาค่อนข้างเร็ว แต่ในปีหน้าที่อยากเห็นคือ การพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หากฉีดวัคซีนในเด็กแล้วเด็กมีอาการไข้ หรือป่วยจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน คิดว่าครอบครัวคงไม่มีใครอยากให้ฉีด เนื่องจากเมื่อเด็กติดโควิดจะมีอาการน้อยมาก โดยไทยพบเด็กติดเชื้อโควิดราว 2.6 แสนคน เสียชีวิตร่วม 40 คน ส่วนใหญ่พบว่ามีโรคประจำตัว เช่น มะเร็ง โรคทางสมอง โรคไตวายเรื้อรัง และอื่นๆ เด็กที่แข็งแรง โอกาสจะเสียชีวิตน้อยมากๆ 

ดังนั้น ผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากกว่า แม้ว่าวัคซีนจะมีอาการข้างเคียง แต่เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักแล้ว จะเห็นว่าอันตรายจากเกิดโรคนั้นมีมากกว่าวัคซีน จึงเป็นที่ยอมรับได้ ขณะที่ในเด็กวัคซีนจะต้องปลอดภัยมากกว่าของผู้ใหญ่ เพราะถึงติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง หากฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการป่วยก็คงไม่คุ้มที่จะเสี่ยง

นอกจากนี้ แม้นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันการกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าในอนาคตข้างหน้าก็จะเกิดสายพันธ์ุใหม่ขึ้นอยู่ดี



มนุษย์จะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีก นานแค่ไหน?

ศ.นพ.ยง ระบุว่า การเกิดโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ต่อไปเกิดวิถีชีวิตใหม่ต่อไป (Next Normal) การใช้ชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไปมีการลดการสัมผัส เช่น การใช้เซ็นเซอร์เข้ามาเป็นตัวช่วยในการลดการสัมผัสพื้นผิวที่ต้องใช้ร่วมกัน หรือการจ่ายเงินผ่านมือถือ ลดการใช้เงินสดและอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนมีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างกันเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ทำให้โรคติดเชื้อต่างๆ ลดลงอย่างมาก 

เมื่อถามว่า ยังต้องใส่แมสก์ไปอีกนานแค่ไหนนั้น นพ.ยง ให้ความเห็นว่า “การใส่แมสก์มีข้อเสียคือสร้างความรำคาญหายใจไม่ค่อยออก แต่ข้อดีก็เยอะ ลดการแพร่กระจายโรค ซึ่งมองว่า หากจะใส่แมสก์กันต่อไปก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย”


เปิด 3 ข้อกังวลที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังจับตาเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19

1.เชื้อหลบหลีกภูมิต้านทาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น

2.แพร่ระบาดเร็ว ก็จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ แต่หากระบาดระลอกใหม่พบว่าผู้ป่วยมีอาการน้อย ก็เหมือนกับมาช่วยฉีดวัคซีน เพิ่มภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติให้แทนการฉีดวัคซีน จะทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับการฉีดวัคซีน 

3.ความรุนแรงของโรคจะเป็นอย่างไรต่อไป ขณะที่ยอดติดเชื้อทั่วโลกขึ้นไป 5-6 แสนคนต่อวันอีกครั้ง ในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยวันละ 1.2 แสน เสียชีวิตวันละ กว่า 1,000 กว่าคน ในอังกฤษมีผู้ป่วยวันละหลายหมื่นคน หากเปรียบเทียบแล้วไทยยังถือว่าควบคุมได้ดี ซึ่งวงการแพทย์ทั่วโลกต่างจับตามอง ขออย่าให้โรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้นมาเหมือนอย่างที่เคยเป็นอีก




ทีมข่าว TNN ONLINE รายงาน

ภาพจาก AFP , Reuters , กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง