ไขปริศนาเนบิลลาทารันทูลา ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา องค์การนาซา (NASA) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายใหม่ของเนบิลลาทารันทูลา (Tarantula Nebula) ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ไม่ว่าจะด้วยกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้ (Near-Infrared Camera หรือ NIRCam), สเปกโตรกราฟอินฟราเรดช่วงใกล้ (Near-Infrared Spectrograph หรือ NIRSpec) และเครื่องมืออินฟราเรดช่วงกลาง (Mid-infrared Instrument หรือ MIRI) เมื่อนำมารวมกันจึงได้ภาพเนบิลลาทารันทูลาที่ชัดมากกว่าที่เคย ซึ่งเผยให้เห็นดาวฤกษ์อายุน้อยมวลมากนับพัน
สำหรับเนบิลลาทารันทูลา หรือที่รู้จักในชื่อ 30 โดราดัส (30 Doradus) เป็นเนบิลลาที่อยู่ห่างออกไป 161,000 ปีแสง ในกาแล็กซีเมฆแมคเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud galaxy) ซึ่งเป็นกาแล็กซีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milkyway galaxy) ของเรามากที่สุด
ในภาพดังกล่าว ณ บริเวณใจกลางจุดที่ส่องสว่างมีดาวฤกษ์ที่ร้อนแรงที่สุดและมีมวลมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาอยู่ และบริเวณรอบ ๆ เนบิลลามีโปรโตรสตาร์ (Protostar) หรือดาวฤกษ์ก่อนเกิดกระจุกตัวอยู่
โดยในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราก็มีจุดที่มีอัตราการเกิดดาวฤกษ์สูงเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับบริเวณเนบิลลาทารันทูลาในกาแล็กซีเมฆแมคเจลแลนใหญ่
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เนบิลลาทารันทูลากลายเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ ก็เพราะมันมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับเอกภพในยุคคอสมิค นูน (Cosmic Noon) อยู่ ซึ่งยุคคอสมิค นูนคือยุคที่เอกภพมีอายุเพียงไม่กี่พันล้านปี และการก่อตัวของดาวฤกษ์อยู่ในจุดสูงสุด ดังนั้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเหตุที่ทำให้เนบิลลาทารันทูลามีอัตราการก่อตัวของดาวฤกษ์สูงมาก
อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์จะทำการศึกษาเอกภพมาเป็นเวลากว่าพันปีแล้ว แต่กระบวนการก่อตัวดาวฤกษ์ยังคงเป็นเรื่องลึกลับอยู่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์อาจพามนุษย์ไปไขปริศนาของเอกภพได้ไกลถึงยุคคอสมิค นูนเลยก็ว่าได้
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov