รีเซต

เครื่องบินก็ตึ๊งได้!! ลุ้นรัฐคลอดสินเชื่อพิเศษ-นำทรัพย์ฝากแบงก์มีเงินค่อยไถ่คืน

เครื่องบินก็ตึ๊งได้!! ลุ้นรัฐคลอดสินเชื่อพิเศษ-นำทรัพย์ฝากแบงก์มีเงินค่อยไถ่คืน
มติชน
4 มีนาคม 2564 ( 03:52 )
53

กกร.หารือรัฐ ดันสินเชื่อพิเศษ-นำทรัพย์ตึ๊งแบงก์ โรงแรม โรงงาน เครื่องบิน ได้หมด อีก2เดือนคลอด หวังอุ้มท่องเที่ยว-สายการบิน ป้องกันต่างชาติฮุบธุรกิจไทย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนมีนาคม 2564

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุมกกร. กล่าวว่า กกร.หารือถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคท่องเที่ยว สายการบิน ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ล่าสุดสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาตรการสินเชื่อพิเศษ เพื่อประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ภายใต้แนวคิด ปรับปรุง ฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพก้าวผ่านวิกฤต ซึ่งธุรกิจจะต้องไม่เป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) ก่อนเดือนมกราคม 2563

“อัตราดอกเบี้ยโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ภาคเอกชนอยากให้อยู่ระดับใกล้เคียงกับดอกเบี้ยของพ.ร.ก.ซอฟท์โลน คือ 2% ส่วนขั้นตอนการปรับปรุง จะใช้วิธีพักทรัพย์ พักหนี้ คือ ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์ไปฝากกับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อป้องกันหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล และจ่ายเงินรูปแบบค่าเช่าเพื่อคงทรัพย์นั้นไว้ คล้ายกับการจำนำและก็มาไถ่ถอนคืน ตึ๊งไว้ก่อน”นายสุพันธุ์กล่าว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คาดว่ามาตรการสินเชื่อพิเศษ ที่ประกอบด้วย การปรับปรุง ฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลง จะมีความชัดเจน ซึ่งรวมถึงขั้นตอนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ เพราะต้องมีการปรับแก้กฎหมายบางฉบับด้วย โดยรายละเอียดด้านการปรับปรุง จะเป็นโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนแต่มีศักยภาพฟื้นตัว สามารถโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารด้วยความสมัครใจ เพื่อลดภาระทางการเงิน รอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียธุรกิจไทย ขณะที่ด้านการฟื้นฟู จะช่วยผู้ประกอบการที่เริ่มฟื้นตัวและต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยสินเชื่อจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

“โครงการนี้เป็นคนละส่วนกับพ.ร.บ.ซอฟท์โลน ที่ภาครัฐอยู่แก้ไข เพราะพ.ร.บ.ซอฟท์โลน อาจไม่เหมาะกับหลายธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือครั้งนี้ สำหรับรายละเอียดในส่วนของต้นทุนทางการเงินจากการเอาทรัพย์ไปฝากธนาคาร และดอกเบี้ยจากสินเชื่อในการฟื้นฟู และวงเงินสินเชื่อที่ชัดเจน อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด”นายผยงกล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อพิเศษ เป็นเรื่องที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว กลุ่มโรงแรม ธุรกิจสายการบินเรียกร้องมานาน แต่ยังไม่มีความชัดเจนออกมา โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน ซึ่งรายละเอียดด้านการปรับปรุงผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ นั้น ทุกธุรกิจที่เข้าโครงการสามารถนำทรัพย์ไปฝากกับธนาคารได้ ทั้งโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าต่างๆ หรือกระทั่งเครื่องบิน ก็สามารถนำไปฝากกับธนาคารเพื่อรับความช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ธุรกิจของไทยไม่ถูกต่างชาติซื้อกิจการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง