ไอร์แลนด์และฝรั่งเศสลงนามเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าใต้ทะเล
โครงข่ายสายไฟใต้น้ำแรงดันสูง (Celtic Interconnector) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับไอร์แลนด์ในด้านพลังงานไฟฟ้า โดยจะช่วยปรับปรุงด้านความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้าและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งในไอร์แลนด์และฝรั่งเศส และช่วยสนับสนุนความต้องการจะเลิกนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยุโรปมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา
ตัวแทนของเออร์กริด (EirGrid) ผู้ดำเนินการโครงข่ายไฟฟ้าของไอร์แลนด์ และอาร์ทีอี (RTE) ผู้ดำเนินการโครงข่ายไฟฟ้าของฝรั่งเศส ได้ลงนามในข้อตกลงทางการเงินและทางเทคนิคสำหรับสร้างสายเคเบิลใต้น้ำแรงดันสูง โดยมีรัฐมนตรีพลังงานของแต่ละประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม
ในปี 2019 โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Connecting Europe Facility (CEF) มูลค่า 530.7 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนงานก่อสร้าง และโครงการ CEF ยังให้เงิน 8.3 ล้านยูโรสำหรับการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าใต้น้ำแรงดันสูง (Celtic Interconnector)
บริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ (Siemens Energy) จะทำการสร้างสถานีแปลงไฟฟ้าในทั้งสองประเทศ และ เน็กแซนส์ (Nexans) บริษัทเคเบิลระดับโลกในปารีสจะเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งสายเคเบิลยาว 575 กิโลเมตรสำหรับโครงการนี้
สายเคเบิลจะเดินสายระหว่างชายฝั่งทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ และชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และจะเชื่อมต่อกับสถานีย่อยที่หมู่บ้าน Knockraha ในไอร์แลนด์ และหมู่บ้าน La Martyre ในฝรั่งเศส โดยการเชื่อมต่อระหว่างกันนั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับไอร์แลนด์
คาดการณ์ว่าโครงข่ายไฟฟ้าใต้น้ำแรงดันสูง (Celtic Interconnector) จะใช้งานได้ภายในปี 2026 โดยมีความยาวประมาณ 600 กม. (373 ไมล์) และมีกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับ 450,000 ครัวเรือน