รีเซต

'ดอน' เยือนจีนหารือ 'หวัง อี้' 10 ปีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เร่งอำนวยความสะดวกส่งออกผลไม้ไทย

'ดอน' เยือนจีนหารือ 'หวัง อี้' 10 ปีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เร่งอำนวยความสะดวกส่งออกผลไม้ไทย
มติชน
12 เมษายน 2565 ( 06:08 )
92

เมื่อวันที่ 1-2 เมษายน ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ประเทศจีน ตามคำเชิญของ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน พร้อมนำคณะผู้แทนภาคเอกชนไทยร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อหารือถึงแนวทางในการกระชับและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์โลก

 

การเยือนจีนของรองนายกฯ และ รมว.กต.ดอนในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการประสานงานเพื่อหาช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกร่วมกันตั้งแต่ปลายปี 2564 และยังเป็นการนำคณะผู้แทนภาคเอกชนไทยเยือนจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งยังตอบแทนการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายหวัง อี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2563

 

ประเด็นสำคัญคือยังเป็นการเยือนเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านไทย-จีน ที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์เชิงรูปธรรมต่อประเทศและประชาชนของทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเป็นโอกาสที่ไทยได้หารือกับจีนเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการเร่งเสริมสร้างการรวมตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน การใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อและถูกซ้ำเติมโดยสถานการณ์ในยูเครนขณะนี้

 

นอกจากนี้ยังเป็นการหารือเพื่อการประสานท่าทีของความร่วมมือในกรอบพหุภาคีในปีนี้ ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่าวรวดเร็ว (BRICS) เพื่อให้กรอบความร่วมมือต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ในการหารือทวิภาคีกับนายหวัง อี้ ฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือสำคัญ 3 สาขา ได้แก่ สาขาที่ 1.การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาควาล่าช้าอันเกิดมาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และความแออัดของการจราจรหน้าด่านจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ผลไม้ไทยออกสู่ตลาด ผลกระทบจากความล่าช้าซึ่งจะทำให้สินค้าเน่าเสีย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ซึ่งมนตรีแห่งรัฐและ รมว.กต.จีนได้สั่งการเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะส่งคนมาตรวจสอบด้านคุณภาพและสุขอนามัยในไทย เพื่อเร่งรัดขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไปจีน

 

สาขาที่ 2 คือ ความเชื่อมโยงด้านธุรกิจและการลงทุน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) โดยไทยได้เสนอให้มีการจัดทำความร่วมมือระหว่างกันเช่นเดียวกับที่ EEC มีกับยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถผลักดันให้บริษัทชั้นนำของจีนเข้ามาลงทุนใน EEC ในสาขาตามที่ฝ่ายไทยต้องการ

 

สาขาที่ 3 คือความเชื่อมโยงด้านคมนาคม โดยเฉพาะระบบรางของไทยกับโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าไทย-จีน ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมนตรีแห่งรัฐฯ แสดงความหวังว่ากระบวนการออกแบบและก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในส่วนของไทยจะเชื่อมโยงไปภาคใต้ของไทยด้วย เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยง BRI ที่ครอบคลุมและหลายประเทศจะได้ประโยชน์จากเส้นทางเชื่อมโยงดังกล่าว

ในโอกาสที่ปีนี้ไทยเป็นประธานการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค รองนายกฯ และ รมว.กต.ดอนยังได้ใช้โอกาสนี้ย้ำคำเชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ให้เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ไทยในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งมนตรีแห่งรัฐฯแจ้งว่า ฝ่ายจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเยือนไทยของประธานาธิบดีสีในโอกาสดังกล่าว และได้ใส่ไว้ในกำหนดการแล้ว อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาถึงการควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ในขณะนั้น และขอให้กระทรวงการต่างประเทศไทยและจีนหารืออย่างใกล้ชิดต่อไป

 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการกลับไปศึกษาต่อที่จีนของกลุ่มนักศึกษาไทยและการกลับไปทำการบินเชิงพาณิชย์ของสายการบินของไทย ซึ่งมนตรีแห่งรัฐฯ ตอบรับที่จะคำนึงความต้องการของไทยเป็นอันดับแรกเมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย ขณะเดียวกันฝ่ายจีนยินดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดหาวัคซีนโควิด-19 การสร้างโรงงานบรรจุขวดและการผลิตวัคซีนโรคต่างๆ ในไทย การส่งเสริม R&D ด้านการพัฒนายา

 

ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและสถานการณ์โลกที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ สถานการณ์ในยูเครน โดยเฉพาะความสำคัญของการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติ การรับมือและหาแนวทางบริหารจัดการวิกฤตด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลกระทบในวงกว้างต่อประชาคมระหว่างประเทศ และสถานการณ์ในเมียนมา โดยได้ยืนยันความประสงค์ที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และย้ำการสนับสนุนการดำเนินการของประธานอาเซียนของกัมพูชา ทั้งยังย้ำเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง อาเซียน เอเปค และสหประชาชาติด้วย

 

เหตุการณ์สำคัญของการเยือนจีนครั้งนี้อีกประการหนึ่ง คือ การเชิญผู้แทนภาคธุรกิจไทย อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-จีน ผู้แทนบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) มิตรผล ฯลฯ เดินทางร่วมคณะมาด้วย โดยผู้แทนภาคธุรกิจได้มีโอกาสเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนระหว่างไทยกับจีนในการประชุมกับ นายหวัง ชิงเซี่ยน ผู้ว่าการมณฑลอานฮุย และการประชุมกับ นายเชิ่ง ชิวผิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

 

ฝ่ายไทยได้เสนอให้บริษัทชั้นนำของจีนทั้งของมณฑลอานฮุยและมณฑลอื่นๆ เพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่ประเทศไทย และสามารถรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากโครงการ EEC และข้อตกลง RCEP ที่ทั้งไทยและจีนเป็นภาคี รวมทั้งสามารถใช้ไทยเป็นฐานในการขยายการค้าและการลงทุนต่อไปในประเทศอาเซียน ซึ่งผู้ว่าฯมณฑลอานฮุยและผู้ช่วย รมว.พณ.จีนต่างเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับไทยให้มากยิ่งขึ้นภายใต้โครงการข้อริเริ่ม BRI และข้อตกลง RCEP และยินดีที่จะสนับสนุนบริษัทชั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนเพิ่มการลงทุนที่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะที่ภายในปี 2565 จ.พระนครศรีอยุธยา และมณฑลอานฮุยจะมีการสถาปนา “เมืองพี่เมืองน้อง” กันด้วย

 

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน เล่าให้ฟังว่า แม้การเยือนจีนของรองนายกฯ และ รมว.กต.ดอนจะมีขึ้นช่วงที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 ในจีนและที่เซี่ยงไฮ้จำนวนมาก ทำให้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมีความเข้มข้นมากขึ้น ฝ่ายไทยต้องลดจำนวนผู้แทนภาคเอกชนที่เดินทางร่วมคณะ แต่เมื่อมีการพบกันทั้งกับมนตรีแห่งรัฐฯ และผู้ว่าฯอานฮุย ฝ่ายจีนกลับแสดงถึงความกระตือรือร้นและยินดีที่จะพบ และรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เห็นได้จากการเตรียมการหารือทั้งออนไลน์และกายภาพที่ได้เชิญผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้ารับฟัง การเสนอข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรม การแสดงถึงความอยากกระชับความสัมพันธ์ระดับประชาชนและท้องถิ่นระหว่างกันกัน

 

ท่านทูตอรรถยุทธ์ยังให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยว่า โดยปกติรูปแบบการพบปะกับผู้แทนต่างประเทศของฝ่ายจีนในสถานการณ์ควบคุมโควิดปัจจุบัน จะจัดให้ผู้แทนต่างประเทศทยอยมาพบกับฝ่ายจีนพร้อมๆ กัน ในสถานที่กักตัวซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว แห่งเดียวกัน จีนเป็นประเทศสำคัญที่มีแขกเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก ฝ่ายจีนมักจำกัดจำนวนคนและเวลาในการหารือให้คณะละราว 1-1.5 ชม. แต่คณะไทยนอกจากจำนวนใหญ่พอสมควรเนื่องจากมีภาคเอกชน ยังได้ร่วมหารือกับมนตรีแห่งรัฐฯ รวมกว่า 3.5 ชม. แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การหารือกลุ่มเล็ก การหารือเต็มคณะ และการหารือในช่วงงานเลี้ยงอาหารกลางวัน และยังมีการพบปะแยกกับ ผู้ว่าฯอานฮุย และผู้ช่วย รมว.พณ.จีน เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้ฝ่ายท้องถิ่นที่จัดกำหนดการ แสดงถึงความร่วมมือและไมตรีจิตที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและจีน

 

นับเป็นอีกหนึ่งการเยือนที่สะท้อนถึงความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-จีนได้เป็นอย่างดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง