รีเซต

โรงสี20จังหวัดอีสาน ตั้งสมาคมNERA มุ่งรักษาเอกลักษณ์หอมมะลิ-ข้าวนุ่มดั้งเดิม

โรงสี20จังหวัดอีสาน ตั้งสมาคมNERA มุ่งรักษาเอกลักษณ์หอมมะลิ-ข้าวนุ่มดั้งเดิม
มติชน
29 สิงหาคม 2563 ( 06:21 )
623
โรงสี20จังหวัดอีสาน ตั้งสมาคมNERA มุ่งรักษาเอกลักษณ์หอมมะลิ-ข้าวนุ่มดั้งเดิม

นายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีข้าวเจริญผล จำกัด ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิจำหน่ายในประเทศ ตรา “ส้มโอ” และหนึ่งในคณะก่อตั้งสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สมาคมได้รับใบอนุญาตการก่อตั้งสมาคมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ชื่อย่อ NERA  เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสมาชิกเริ่มในการก่อตั้ง 160 โรง และมีโรงสีกระจายอยู่ทั้ง 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยกำหนดจัดประชุมสามัญครั้งแรก เพื่อเลือกนายกสมาคมและกรรมการบริหาร ในวันที่ 22 กันยายน 2563

 

นายวิชัย กล่าวว่า จุดประสงค์และภารกิจสมาคม คือ สมาชิกโรงสีทุกโรงมุ่งเน้นจะสีข้าวเกรดพรีเมี่ยมคุณภาพดีคือข้าวนาปีข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวกข.6 เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้เลือกซื้อข้าวซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีจากสมาชิก

 

”ผู้บริโภคจะได้ไม่สับสนกับพันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกในที่อื่นๆ เช่น พันธ์ข้าวพื้นนุ่ม อีกทั้งสมาชิกทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือในนโยบายรัฐในเรื่องข้าวของชาวนาในภาคอีสาน ซึ่งท้ายสุดเราหวังใจว่าจะเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือกให้กับชาวนาในภาคอีสานต่อไปอีกทางหนึ่ง ต่อไปผู้ซื้อหรือนำเข้าข้าวจากไทยเมื่อดูเห็นเครื่องหมายสมาคมก็จะได้มั่นใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิมาจากแหล่งปลูกในพื้นที่อีสาน และลดปัญหาการนำข้าวหอมมะลิแท้จากอีสานไปผสมกับข้าวหอมหรือข้าวพื้นนุ่มชนิดอื่น” นายวิชัย กล่าวและระบุว่า ในการประชุมจะมีการติดตามสถานการณ์เพาะปลูกข้าวหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2563/64 และรวบรวมปัญหาและข้อเสนอของสมาชิก โดยจะนำข้อสรุปผลประชุมและสิ่งที่โรงสีเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

สำหรับสถานการณ์เพาะปลูกข้าวหอมมะลินาปี 2563/64 กังวลเรื่องภาวะอากาศ ฝนตกกระจายพื้นที่ ไม่ต่อเนื่อง ปริมาณน้ำน้อยเกินไป และปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำลงมาก อาจกระทบต่อปริมาณจ่ายน้ำภาคเกษตร หากน้ำในเขื่อนยังน้อย บางพื้นที่อาจเจอปัญหาในด้านบริโภคด้วย เพราะหากผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ2563/64 ต่ำลง หรือใกล้เคียงปี 2562/63 ประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก ต่ำกว่าปกติเกิน 8 ล้านตันข้าวเปลือก ก็จะกระทบต่อรายได้ชาวนาลดลงและไม่คุ้มต้นทุนค่าใช้จ่ายเพาะปลูก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง