แฉแบงค์ยักษ์ฟอกเขียว! ให้คำมั่นลดโลกร้อน แต่ยังปล่อยเงินทุนหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
รายงานของสถาบันวิชาการ “อินฟลูเอนซ์แมพ” เผยแพร่เมื่อ 25 มีนาคมชี้ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ยังคงปล่อยเงินหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปในการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรง
บทวิเคราะห์ของ อินฟลูเอนซ์แมพ พบว่า กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก 30 แห่ง ได้จัดหาแหล่งเงินทุนมากถึง 740,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2020 และ 2021 และมีการลงทุนอีกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยสถาบันการเงินที่จัดหาแหล่งเงินในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ เจพี มอร์แกน บริษัทวาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ เป็นเงิน 81,000 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย ซิตีกรุ๊ป 69,000 ล้านดอลลาร์ และ แบงก์ออฟอเมริกา 55,000 ล้านดอลลาร์
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี)ของสหประชาชาติ ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจะต้องถึงศูนย์ภายในปี 2050 หากภาวะโลกร้อนถูกจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อลดผลกระทบร้ายแรง
โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เผยแพร่แผนงานในปี 2021 ระบุว่าเพื่อที่จะทำให้มีการเปลี่ยนพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ก็จะต้องไม่มีการลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่อีก
ทั้งนี้ธนาคารทั้งหมด ยกเว้นหนึ่งใน 30 แห่งที่อยู่ในการทำสำรวจ ได้ให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่รายงานพบว่าหลายบริษัทยังเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ทำการล็อบบี้เพื่อทำให้นโยบายการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง ซึ่งนักรณรงค์มองว่าการค้นพบนี้ เป็นหลักฐานของการ “ฟอกเขียว” คือการทำเป็นให้คำมั่นในการรักษาสภาพภูมิอากาศ แต่การกระทำเป็นไปในทางตรงกันข้าม