รีเซต

ท่าเรือน้ำโขงปิดนานนับปี หลังโควิดระบาดต่อเนื่อง การค้าทางเรือกระอัก มูลค่าลดลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ท่าเรือน้ำโขงปิดนานนับปี หลังโควิดระบาดต่อเนื่อง การค้าทางเรือกระอัก มูลค่าลดลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
มติชน
16 เมษายน 2564 ( 16:53 )
67
ท่าเรือน้ำโขงปิดนานนับปี หลังโควิดระบาดต่อเนื่อง การค้าทางเรือกระอัก มูลค่าลดลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่​ 16​ เมษายน​ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การค้าชายแดนด้านแม่น้ำโขงจากท่าเรือ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคือ สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ มีความซบเซาติดต่อกันมานานกว่า 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ต้นปี 2563 ประกอบกับ สปป.ลาว ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยได้ปิดประเทศเกือบทั้งหมด โดยคงเหลือให้มีการขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรตรงสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ระหว่างเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังปิดท่าเรือเมืองกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของจีน ทำให้คงเหลือเพียงเมืองท่าในฝั่งของประเทศเมียนมาที่ยังคงเปิดให้มีการค้าขายเชื่อมกับท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน แห่งที่ 2 ของประเทศไทย

 

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ ไทย สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ ยังคงมีดำเนินการตามข้อตกลงการเดินพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ ซึ่งมีข้อกำหนดให้แต่ละประเทศได้พัฒนาเมืองท่าเรือของตนเพื่อรองรับเรือจากประเทศต่างๆ รวมทั้งหมด 14 เมืองท่า

 

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า กรณีของประเทศไทยมีการพัฒนา 2 เมืองท่าคือที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การเกิดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมูลค่าการค้าทางเรือลดลงกว่า 80% จากมูลค่าเดิมที่เคยมีมา สาเหตุหลักๆ เพราะเมืองท่าหน้าด่านของจีนได้ปิดลงติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า ปัจจุบันคงเหลือการค้าทางเรือจากท่าเรือของประเทศไทยไปยังท่าเรือของประเทศเมียนมาเพียงไม่กี่แห่ง เช่น ท่าเรือบ้านโป่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน เพียงเล็กน้อย ท่าเรือสบหรวยห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 200 กิโลเมตร ฯลฯ และเรือสินค้าสัญชาติ สปป.ลาว ที่เคยขนส่งสินค้ากันอย่างขวักไขว่ก็หายไป เพราะ สปป.ลาว มีการปิดชายแดน และมีเรือหันไปติดธงสัญชาติเมียนมากันเป็นจำนวนมาก กระนั้นการค้าก็ยังซบเซาด้วยเหตุผลของการปิดเมืองท่าดังกล่าว

 

“ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย และมีมาตรการในการป้องกันไวรัสที่ได้ผล จึงเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกหลักของข้อตกลงจะผลักดันในระดับรัฐบาลไปยังประเทศต่างๆ ลุ่มแม่น้ำโขงได้กลับมาเปิดท่าเรืออีกครั้ง ภายใต้มาตรการในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด

 

“ในการประชุมส่วนราชการและภาคเอกชนใน จ.เชียงราย รวมถึงการไปเยือนของคณะสำคัญๆ ที่ จ.เชียงราย นั้น เคยเสนอให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะการทำให้ประเทศจีนเล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติดังกล่าว ด้วยการเปิดท่าเรือกวนเหล่ยเป็นการนำร่อง เพราะมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาต่างก็มีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ด้านการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ กับ จ.เชียงราย หลายครั้ง และมณฑลยูนนานก็เคยลงนามเป็นบ้านพี่เมืองน้อง หรือซิสเตอร์ ซิตี้ กับ จ.เชียงราย จึงเห็นควรให้ข้อตกลงต่างๆ มีผลในช่วงเวลานี้ด้วยต่อไป” น.ส.ผกายมาศกล่าว

 

นอกจากนี้ รายงานจากด่านศุลกากรเชียงแสน แจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2562 ประเทศไทยส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสน ไปยังประเทศต่างๆ ลุ่มแม่น้ำโขงมูลค่ารวม 11,624,561,624.63 บาท และนำเข้ามูลค่า 583,800,610.96 บาท และปี 2561 มีการส่งออกมูลค่ารวม18,905,630,898.08 บาท และนำเข้ามูลค่า 712,48,445.45 บาท

ต่อมาในปีงบประมาณ 2563 ประเทศไทยส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสน ไปยังประเทศต่างๆ ลุ่มแม่น้ำโขงมูลค่ารวม 7,536,327,692.33 บาท ส่วนใหญ่เป็นโคและกระบือมีชีวิต น้ำมันเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง สุกรมีชีวิต ฯลฯ และนำเข้ามูลค่ารวม 408,020,070.96 บาท ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดทานตะวัน มันฝรั่ง กระเทียมอบแห้ง กระเทียมสด ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง