วิจัยพบมนุษย์มีแนวโน้ม 'ต้องการน้ำ' น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน
ปักกิ่ง, 26 พ.ย. (ซินหัว) -- หนึ่งในคำแนะนำด้านสุขภาพอันเป็นที่รู้จักกันดี กล่าวไว้ว่าผู้คนควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว (ราว 2 ลิตร) ต่อวัน ทว่าผลการศึกษาฉบับใหม่กลับแนะนำการดื่มน้ำในปริมาณน้อยกว่านั้น
กลุ่มวิจัยนานาชาติที่นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น (SIAT) ของจีน พบว่าปริมาณน้ำที่ผู้ชายช่วงวัย 20 ปีควรดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-1.8 ลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้หญิงช่วงวัยเดียวกันควรดื่มเฉลี่ย 1.3-1.4 ลิตรต่อวัน
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (25 พ.ย.) กล่าวถึงชุดสมการเพื่อการคาดการณ์การหมุนเวียนของน้ำของมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยเป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนปริมาณน้ำที่ร่างกายใช้ในแต่ละวัน
คณะนักวิจัยฯ ตรวจสอบผู้เข้าร่วม 5,604 คน ช่วงอายุ 8 วัน-96 ปี จากกว่า 20 ประเทศ ด้วยวิธีการติดตามด้วยไอโซโทป (isotope-tracking) โดยพบว่าผู้ชายอายุ 20-35 ปี ดื่มน้ำ 4.2 ลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้หญิงอายุ 30-60 ปี ดื่มน้ำ 3.3 ลิตร และความต้องการน้ำจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น
กระบวนการเผาผลาญและการแลกเปลี่ยนน้ำบนผิวหนัง ให้น้ำแก่ร่างกายมนุษย์ร้อยละ 15 ส่วนอาหารและเครื่องดื่มให้น้ำอย่างละครึ่งในร้อยละ 85 ที่เหลือ ผู้คนจึงได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำน้อยกว่าร้อยละ 45 ของปริมาณหมุนเวียนทั้งหมดในแต่ละวัน
จางเสวี่ยอิ้ง หนึ่งในนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันฯ กล่าวว่าผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ต้องดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน
ปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าและขับถ่ายออกทั้งหมดจะแตกต่างกันไปตามหลายปัจจัย อาทิ ขนาดร่างกาย กิจกรรมทางกายภาพ อุณหภูมิอากาศ ความชื้น และความสูงเหนือระดับน้ำทะเล
จางกล่าวว่าสมการนี้สามารถนำไปใช้กับคนทั่วโลกได้ โดยใช้ตัวบ่งชี้พื้นฐานทางสรีรวิทยารวมกับอุณหภูมิและความชื้นที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำ (HDI) มีปริมาณการหมุนเวียนน้ำสูงกว่าผู้คนในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง
ทั้งนี้ จอห์น สปีคแมน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยข้างต้นจากสถาบันฯ กล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกสู่การคาดการณ์ความต้องการน้ำในแบบเฉพาะบุคคล