รู้จัก "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) มีตุ่มหนองคัน ติดต่อจากการสัมผัส คล้ายไวรัสไข้ทรพิษ
"โรคฝีดาษลิง" หรือ Monkeypox ที่กำลังระบาดในประเทศแถบยุโรป โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง จะมีอาการคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ จะเป็นไข้และมีตุ่มคันเกิดขึ้นใน 1-3 วัน กระจายไปทั่วร่างกาย วันนี้ TrueID จึงจะพามารู้จัก "โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)" ซึ่งเป็นอีกโรคระบาดที่กำลังมาในตอนนี้
โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า "โรคฝีดาษในลิง (monkeypox) ยังไม่น่ากังวล แต่ควรจับตามอง"
สถานการณ์การระบาด "โรคฝีดาษลิง"
- โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่หาพบได้ยาก เกิดจากไวรัสที่เป็นญาติกับโรคฝีดาษ (smallpox) ทำให้เป็นไข้ มีฝีหนองคันเกิดขึ้นตามผิว และอาจทำให้เสียชีวิตได้
- ปรกติ โรคฝีดาษลิง จะพบในทวีปอัฟริกา และมักพบในสัตว์ แต่ไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวการตรวจพบในบางประเทศยุโรป
- โปรตุเกส รายงานว่าพบเคสยืนยันแล้ว 5 ราย และต้องสงสัยอีก 15 ราย โดยพบในกรุงลิสบอน ทุกรายเป็นผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม มีแผลตามผิวหนังแต่อาการยังไม่รุนแรงอะไร
- สหราชอาณาจักร รายงานพบทั้งหมด 7 ราย จากกลุ่มชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล ในกรุงลอนดอน
- สเปน พบต้องสงสัย 8 ราย และรอการพิสูจน์ยืนยันผล
จุดเริ่มต้นการระบาด "โรคฝีดาษลิง"
- เริ่มมีรายงานในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่บินกลับมาจากประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นจึงพบอีก 6 รายตามมา
- ซึ่งพบว่ามี 4 ราย ที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน จากการที่เป็นเกย์หรือไบเซ็กชวล และมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายและชาย
- ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานพบโรคฝีดาษลิงในสหราชอาณาจักรมาแล้ว 3 ราย โดย 2 รายนั้นอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน และอีกรายเคยเดินทางไปไนจีเรีย
อาการของ "โรคฝีดาษลิง"
- โรคฝีดาษลิง เป็นญาติกับโรคฝีดาษในคน แต่แพร่ระบาดได้ยากกว่า มีอาการรุนแรงน้อยกว่า และทำให้เสียชีวิตได้น้อยกว่า
- มักจะมีอาการป่วยนาน 2-4 สัปดาห์ และมีระยะฟักตัว (ตั้งแต่ติดเชื้อจนมีอาการ) ประมาณ 5-21 วัน
- มีอาการป่วยปนกันระหว่างเป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หนาวสั่น เหนื่อย และต่อมน้ำเหลืองบวม (ซึ่งเป็นจุดแตกต่างสำคัญจากโรคฝีดาษในคน)
- เมื่อเริ่มเป็นไข้ จะมีตุ่มคันที่ดูน่ากลัวเกิดขึ้นใน 1-3 วัน โดยมักเริ่มที่ใบหน้า และกระจายไปตามร่างกาย บางคนอาจขึ้นไม่เยอะ แต่บางคนอาจมีหลายพันตุ่ม ซึ่งจะนูนใหญ่ขึ้น มีหนองข้างในเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน "สุก" และแตกเป็นแผล
ที่มาของชื่อ "โรคฝีดาษลิง"
- ไวรัสโรคฝีดาษลิง อยู่ในสกุล ออร์โทพ็อกซ์ไวรัส Orthopoxvirus ของวงศ์ พ็อกซ์วิริดี้ Poxviridae (คำว่า pox หมายถึงฝีหนอง)
- ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ในการระบาดของโรคที่คล้ายฝีดาษ ซึ่งเกิดในห้องแล็บวิจัยที่เลี้ยงลิงไว้
- แม้ไม่ได้มีหลักฐานว่าลิงเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนั้น แต่คนก็เอาไปตั้งชื่อโรคว่า ฝีดาษลิง ไปแล้ว
- ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกคาดว่า สัตว์ตามธรรมชาติที่เป็นพาหะของโรคนี้ จริงๆ น่าจะเป็นพวกสัตว์ฟันแทะ เช่น พวกหนูและกระรอกในป่าของอัฟริกา
พื้นที่การระบาด "โรคฝีดาษลิง"
- การระบาดของโรคฝีดาษลิง ในคน นั้นมักพบในพื้นที่ป่าเขตร้อนของอัฟริกากลางและอัฟริกาตะวันตก โดยมีรายงานครั้งแรกปี ค.ศ. 1970 จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และต่อมาพบในประเทศอื่นๆ อีก 11 ประเทศ
- พบการระบาดนอกทวีปอัฟริกาเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2003 นี้เอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ
- จากนั้น ในปี 2018 และ 2019 ประเทศสหราชอาณาจักร ตรวจพบโรคในนักท่องเที่ยว 2 คน ซึ่งเป็นชาวอิสราเอลและชาวสิงคโปร์ ที่เคยเดินทางไปประเทศไนจีเรีย
การติดต่อขอ "โรคฝีดาษลิง"
- เราติดเชื้อไวรัสโรคนี้จากสัตว์ที่ติดเชื้อได้ ทั้งจากการที่ถูกสัตว์นั้นกัดหรือข่วน และจากการกินเนื้อของมัน
- ส่วนการติดจากคนที่ติดเชื้อ เกิดได้โดยการสัมผัสกันโดยตรง หรือจับเสื้อผ้าที่นอน ที่ปนเปื้อนเชื้อ
- ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายขอเวรา ผ่านรอยแผลบนผิวหนัง หรือระบบทางเดินหายใจหรือเนื้อเยื่อที่มีเมือก (เช่น ดวงตา จมูก ปาก)
- ส่วนใหญ่ การแพร่จากคนสู่คน จะผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากทางเดินหายใจ (เช่น หยดน้ำลาย) ทำให้เชื้อมักเดินทางไปไม่ไกลนัก จึงต้องเว้นระยะห่าง ในช่วงใบหน้าต่อใบหน้า (face to face)
- แต่จากการระบาดที่พบตอนหลังนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ก็มีโอกาสจะแพร่เชื้อได้ เนื่องจากกิจกรรมทางเพศนั้น ทำให้คนทั้งสองมาอยู่ใกล้ชิดกัน
ควรกังวล "โรคฝีดาษลิง" แค่ไหน
- โรคฝีดาษลิง มักจะไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรง และคนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวได้ในไม่กี่สัปดาห์ .. และการที่มันไม่ได้ระบาดแพร่กระจายโดยง่าย ก็ทำให้ความเสี่ยงต่อสาธารณะ ลดต่ำลงไปมากด้วย
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในประเทศอังกฤษตอนนี้ พบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์อัฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์อัฟริกากลาง โดยมีอัตรการเสียชีวิตอยู่ที่ 1% (ถ้าเป็นสายพันธุ์อัฟริกากลาง จะเป็น 10% และถ้าโรคฝีดาษคน จะมากถึงประมาณ 30%)
- โอกาสเสียชีวิต จะสูงขึ้นถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก และคนหนุ่มสาว และคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มีความเสี่ยงจะป่วยรุนแรง
- สตรีมีครรภ์ ที่ติดโรคฝีดาษลิง อาจจะประสบปัญหาในการตั้งครรภ์ และแท้งบุตรขณะคลอดได้
- ปัญหาหนึ่งของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ อาจจะไม่รู้ตัวว่าติดโรคอยู่ และทำให้แพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้
การรักษาและป้องกัน "โรคฝีดาษลิง" อย่างไร
- ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่โรคจะหายไปเอง
- เชื่อกันว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษนั้น มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคฝีดาษลิงไปด้วย
- แต่เนื่องจากโรคฝีดาษได้ถูกกำจัดหมดไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้ตอนนี้ไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษสำหรับประชาชน เหลืออยู่อีกต่อไป
- แต่มีการพัฒนาวัคซีนใหม่สำเร็จแล้ว โดยบริษัท Bavarian Nordic สำหรับป้องกันทั้งโรคฝีดาษในคน และโรคฝีดาษลิง โดยได้รับการรับรองแล้วจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (จะใช้ชื่อการค้าว่า Imvanex, Jynneos และ Imvamune ตามลำดับ)
- ส่วนยาต้านไวรัส นั้นกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ข้อมูล เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<