รีเซต

ปลัดมท. ควงผู้ว่าฯนครปฐม จุดเทียนชัยสักการะบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯครบรอบ 107 ปี

ปลัดมท. ควงผู้ว่าฯนครปฐม จุดเทียนชัยสักการะบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯครบรอบ 107 ปี
มติชน
2 พฤศจิกายน 2565 ( 15:37 )
61

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จุดเทียนชัย นำชาวบ้านสักการะบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯครบรอบ 107 ปี

 

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ วิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม พระเทพมหาเจติยาจารย์(ชัยวัฒน์ ปญฺญาสิริ ป.ธ.9)เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม รองเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานนำพระสงฆ์ ข้าราชการ และประชาชนกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย และบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ เนื่องในวันครบรอบ 107 ปี ที่ พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯมาประดิษฐาน ( วันที่2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2458) ณ วิหารแห่งนี้

 

โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยสำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ฯ ดำเนินการจัดเตรียมตั้งเก้าอี้กว่า3,000 ตัว ไว้บริการประชาชนที่นำของไหว้มีไข่ต้มแดง ส้มเขียวหวาน ดอกดาวเรือง และหรือผลไม้อื่นๆ ที่เป็นมงคลมาถวายพระร่วงโรจนฤทธิ์ โดยทางวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร มอบหมี่ซัว ที่หมายถึงความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง ร่ำรวยให้แก่ประชาชนที่มาไหว้บูชา

 

ทั้งนี้ พระเทพเจติยาจารย์ ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้เสี่ยงทายตัวแทนศิษย์ที่นำของมาไหว้ตามเก้าอี้ที่ตั้งไว้ตามหมายเลข ได้เลข 909 เป็นชายไทยชาวกรุงเทพมหานคร มาทำงานที่จังหวัดนครปฐมได้เป็นตัวแทนอัญิญเทียนชนวน จากวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ไปให้ประธานทำพิธีจุดนำเพื่อประกอบพืธีการสืบไป

 

อนึ่ง พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทอดพระเนตร พระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมากเหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานครฯ พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของ พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์

 

พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ

 

การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้นมาและมาประกอบเข้าด้วย กันที่จังหวัดนครปฐมแล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2458 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่าให้ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่องค์พระปฐมเจดีย์วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุ พระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระประสงค์ทุกประการ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง