รีเซต

สธ.เปิด 3 ปัจจัยโควิดมีแนวโน้มจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในปีนี้

สธ.เปิด 3 ปัจจัยโควิดมีแนวโน้มจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในปีนี้
TNN ช่อง16
12 มกราคม 2565 ( 17:53 )
109
สธ.เปิด 3 ปัจจัยโควิดมีแนวโน้มจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในปีนี้

วันนี้ (12 ม.ค.65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยเริ่มทรงตัว หลังจากมีการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 

1.ตัวเชื้อโรคมีความรุนแรงลดลงซึ่งสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง เห็นได้จากแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง 

2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น 

3.ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี 

ทั้งนี้ การที่โรคโควิด 19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามชะลอการระบาดของโรค พร้อมไปกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ติดต่อขอรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด และขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ส่วนสถานประกอบการต้องเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting

ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อครั้งนี้โรคโควิด 19 เปลี่ยนไปจากเดิม มีความรุนแรงลดลง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก รูปแบบการดูแลรักษาจึงต่างจากการระบาดระลอกก่อน โดยเปลี่ยนมาใช้การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) เป็นลำดับแรก มียา เวชภัณฑ์ มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดตามอาการต่อเนื่อง และมีการเตรียมเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับหากอาการมากขึ้นพร้อมส่งต่อทันที จึงวางใจได้ว่าหากติดเชื้อก็ยังได้รับการดูแลตามมาตรฐานเช่นเดิม” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

สำหรับการระบาดของโรคติดต่อ มี 4 ระดับ ได้แก่ 

1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมือง ประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป มีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย 

2. การระบาด (Outbreak) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งกรณีโรคประจำถิ่นที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่ 

3. โรคระบาด (Epidemic) คือ มีการแพร่กระจายโรคกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์อย่างฉับพลัน จำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ 

4. การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ ระดับการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด 19




ข้อมูลจาก สธ.

ภาพจาก รอยเตอร์/สธ.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง