รีเซต

ครบรอบ 50 ปี เขมรแดงเข้ายึดครองพนมเปญ กับการต่อสู้เพื่อจดจำประวัติศาสตร์

ครบรอบ 50 ปี เขมรแดงเข้ายึดครองพนมเปญ กับการต่อสู้เพื่อจดจำประวัติศาสตร์
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2568 ( 13:17 )
10

ครบรอบ 50 ปี เขมรแดงเข้ายึดครอง กรุงพนมเปญล่มสลาย ซึ่งนำมาสู่การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่เปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม และเพียงแค่ระยะเวลา 4 ปี ได้ทำการฆ่าล้างชาวกัมพูชา ไปมากกว่า 1.4 - 3 ล้านคน 

17 เมษายน ปี 1975 หรือย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คือวันที่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือที่รู้จักกันว่า ‘เขมรแดง’ เข้ายึดกรุงพนมเปญ ท่ามกลางความดีใจของประชาชน ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามกลางเมือง และจะนำความสงบมาสู่ประเทศ แต่ 4 ปีหลังจากนั้น กลับกลายเป็นนรกของชาวเขมร 

เขมรแดง นำโดยพล พต มีความคิดคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เปลี่ยนประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม ตั้งใจให้ประเทศกลับไปเป็นเหมือนอดีต ที่ไม่ใช้วิทยาการ และความรู้อะไร ทำการเกษตร ใช้แรงงาน อาศัยอยู่ร่วมกันแบบคอมมูน ต้องการให้กัมพูชามีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ อพยพผู้คนไปยังชนบท เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นการพึ่งพาตนเอง โดดเดี่ยวกัมพูชาจากโลกภายนอก และกวาดล้างปัญญาชนที่มีความรู้ หมอ พยาบาล ครู นักเขียน ข้าราชการ รวมไปถึงคนที่ใส่แว่นตา ล้วนถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล 

ทั้งยังรวมไปถึงเด็กแรกเกิดที่ไม่ได้รับการดูแล ประชาชนที่ถูกใช้ให้ทำงานอย่างหนักเกือบ 24 ชั่วโมง อาหารไม่เพียงพอ และคนขัดขืน หากไม่ถูกฆ่าที่ทุ่งสังหาร ก็ถูกจำคุก โดยทหารเขมรแดงคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศในขณะนั้น

4 ปีให้หลัง ภายใต้การปกครองของพล พต ทหารของเวียดนามได้บุกเข้าโจมตีเขมรแดง จนนำมาสู่การล่มสลายของเขมรแดง ซึ่งภายหลัง ในปี 1998 ขณะถูกคุมขังในบ้านพัก ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย หรือการถูกวางยาพิษ 

50 ปีผ่านไป กับการต่อสู้เพื่อให้ประวัติศาสตร์ถูกจดจำ

ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดง ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เลวร้าย และอาจจะเกินของนิยามของคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปแล้วด้วย และบางคนก็เลือกที่จะอยากลืมมันไปด้วย

Phong Heang อดีตทหารเขมรแดง ให้สัมภาษณ์ถึงการครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์นี้ว่า เขาอยากจะฝังอดีตนี้ไป “ผมอยากจะฝังมันไป (อดีต) เพราะผมก็ทุกทรมานในช่วงเขมรแดง ผมสูญเสียขา นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่อยากจะเห็นสงครามอีก ฝังมันลงไปเถอะ”

แม้ว่าประวัติศาสตร์เขมรแดง จะเป็นเรื่องที่โหดร้าย หลายคนอยากลืมอดีต ไปถึงการศึกษา และสังคมปัจจุบัน ที่ยังหลีกเลี่ยงจะพูดเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับเด็กที่เกิดหลังปี 1979 ทั้งโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้อย่างครอบคลุม พ่อแม่ของเด็กๆ หลายๆ คนก็ไม่ชอบที่จะพูดถึง และรัฐเองก็ตีกรอบเหตุการณ์นี้ไว้ จนเด็กรุ่นใหม่ชาวกัมพูชาหลายคน รับรู้ว่า ‘พล พต’ นั้นเคยเป็นผู้นำประเทศ แต่ไม่รู้เลยว่า ‘พล พต’ และเขมรแดง เคยทำอะไรไว้บ้าง

ทั้งยังต้องใช้เวลาอีกลายสิบปีในการเริ่มต้นให้มีการตัดสินโทษผู้นำเขมรแดง และยังมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผลของเขมรแดง ที่ฆ่าล้างประชากรไป 1.4 ล้าน และอาจมากถึง 3 ล้านนั้น มีบทลงโทษแค่การตัดสินลงโทษผู้นําเขมรแดงอาวุโสเพียงสามคน เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1975–79 ขณะที่ผู้กระทําความผิดระดับกลาง และระดับล่างหลายคนเป็นอิสระ ไม่ได้รับโทษใดๆ  บางคนยังอยู่ในตําแหน่งรัฐบาล และบางคนก็เป็นเพื่อนบ้านของผู้รอดชีวิตด้วย 

แต่ถึงอย่างนั้นชาวกัมพูชาอีกหลายๆ คนกลับมองว่า ต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ ด้วยการสอนคนรุ่นใหม่ถึงเหตุการณ์นี้ ไปถึงการรักษาพิพิธภัณฑ์ และอนุสรณ์สถานพลพตในพนมเปญ 

Youk Chhang ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ข้อมูลกัมพูชา พูดถึงอนุสรณ์สถานพลพตในพนมเปญ หรือโลงศพของพลพต ที่นับวันจะทรุดโทรมลงว่า ต้องมีการเก็บรักษา เพื่อให้คนได้เห็น “หากคุณไม่ทำมัน ทั้งหมดก็จะถูกทำลาย และสูญหายไป และคนรุ่นใหม่ จะไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่า พล พตเคยมีอยู่จริง หากคุณคิดในระยะสั้น และระยะยาวตลอดเวลา และทุกๆ ครั้งที่ผมไปที่นั่น ผมเห็นฝนตกหนักๆ บางครั้ง และบริเวณหลุมศพก็ค่อยๆ หายไปทีละน้อย”

“คุกไร้กำแพง” คือสิ่งที่ Mean Loeuy ผู้รอดชีวิตจากเขมรแดงสอนเด็กๆ รุ่นใหม่กัมพูชา ให้รู้จักยุคของเขมรแดง เขายังคงเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ และแบ่งปันประสบการณ์ของเขา “ผมมาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองเพราะอยากให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้ทุกสิ่งที่เขมรแดงเคยทำ และให้พวกเขาได้ศึกษาและจดจำว่าระบอบการปกครองที่กินเวลานาน 3 ปี 8 เดือน ถือเป็นระบอบการปกครองที่โหดร้ายที่สุดที่สังหารผู้คนไปมากมาย”

ทั้งไม่ใช่เพียงแค่การสอนในโรงเรียน หรือการตีกรอบของรัฐบาล แต่วันที่ 17 เมษายน ยังไม่ใช่วันหยุดประจำชาติของกัมพูชา ไม่มีการรำลึกอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลเองไม่สนับสนุนให้รำลึกถึงวันที่พนมเปญพ่ายแพ้แก่เขมรแดงด้วย 

Sophal Ear รองศาสตราจารย์ใน Thunderbird School of Global Management มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ชาวกัมพูชาผู้รอดชีวิต และเสียบิดาในช่วงเขมรแดง ได้เขียนบทความใน The Conversation ว่า เขาคิดว่าวันที่ 17 เมษายน ควรจะเป็นวันรำลึกเหตุการณ์ “ไม่ใช่เพื่อกลบเกลื่อนบาดแผล แต่เพื่อเตือนใจชาวกัมพูชาว่าความยุติธรรม ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีมีความสำคัญอย่างไร”

“อันตรายไม่ได้อยู่ที่กัมพูชาจะกลับไปสู่ยุคเขมรแดง แต่อันตรายคือกัมพูชาจะกลายเป็นสถานที่ที่ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน เป็นที่ที่อำนาจนิยมถูกมองว่ามีเสถียรภาพ และเป็นที่ที่การพัฒนาถูกปกปิดด้วยความอยุติธรรม”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง