ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน! รอยเลื่อนอีสาน น่าห่วงแค่เลย-บึงกาฬ

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ชี้แจงกรณีข่าวลือรอยเลื่อน 12 แห่งในภาคอีสาน ระบุมีเพียง จ.เลย และบึงกาฬ ที่ควรเฝ้าระวัง ขอยุติความตื่นตระหนก
ผู้เชี่ยวชาญโต้ข่าวลวง! ยืนยันรอยเลื่อนภาคอีสานน่ากังวลแค่ 2 จังหวัด
ศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ นักธรณีวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลผ่านเพจ “มิตรเอิร์ธ” เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับ “รอยเลื่อน 12 แห่งในภาคอีสาน” พร้อมยืนยันว่า ในเชิงภัยพิบัติ ภูมิภาคดังกล่าวมีเพียง จ.เลย และ จ.บึงกาฬ เท่านั้น ที่รอยเลื่อนยังมีพลังเพียงพอจะต้องติดตาม ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีเพียงรอยเลื่อนที่ “หมดพลัง” แล้ว ไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุ
เขาอธิบายว่า รอยเลื่อนที่สร้างความเสียหายจากแผ่นดินไหวต้องมีพลังหรืออาจมีพลัง (Active หรือ Possible Active Fault) ซึ่งพบเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น รอยเลื่อนที่ จ.เลย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวระดับ 2.0-3.0 และรอยเลื่อนท่าแขก ใน จ.บึงกาฬ ขณะที่รอยเลื่อนโคราช ภูเขียว หรือสตึก ซึ่งมีการกล่าวถึงนั้น ไม่มีพลังแล้ว และใช้ในงานศึกษาทางธรณีวิทยาเท่านั้น
“การทำให้รอยเลื่อนในอีสานเคลื่อนไหว ยังยากพอๆ กับการปลุกภูเขาไฟพนมรุ้งให้ระเบิด” ศ.ดร.สันติ กล่าวเปรียบเปรย พร้อมเตือนว่า การเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเกินจริง อาจก่อให้เกิดความหวาดวิตกในสังคมโดยไม่จำเป็น
เขาระบุเพิ่มเติมว่า แรงธรณีแปรสัณฐานในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากแนวมุดตัวแถบสุมาตรา-อันดามัน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภาคอีสานหลายร้อยกิโลเมตร และไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
ท้ายที่สุด ศ.ดร.สันติ เรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว พร้อมฝากข้อความว่า “ขาดทุนหัวใจ แยกย้ายกันไปหาอยู่หากินดีกว่าครับ”