รีเซต

10 อันดับ องค์กรด้านอวกาศที่ทุ่มงบมากที่สุดประจำปี 2022

10 อันดับ องค์กรด้านอวกาศที่ทุ่มงบมากที่สุดประจำปี 2022
TNN ช่อง16
18 มิถุนายน 2565 ( 12:58 )
527
10 อันดับ องค์กรด้านอวกาศที่ทุ่มงบมากที่สุดประจำปี 2022

Space Race คือ การแข่งขันเพื่อพิชิตเป้าหมายในการสำรวจอวกาศ ซึ่งเริ่มต้นในยุคสงครามเย็นในระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันคำนี้ถูกใช้ในองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงเอาชนะในด้านการขนส่งมวลมนุษยชาติขึ้นไปบนอวกาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดตั้งอาณานิคมในอวกาศขึ้นในอนาคต ดังนั้น TNN Tech จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ 10 องค์กรด้านอวกาศที่ใช้งบประมาณในการทำวิจัยและสำรวจอวกาศมากที่สุดประจำปี 2022 


องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) เป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณต่อปีสูงที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา ในปี 2018 NASA ใช้งบประมาณกว่า 7 แสนล้านบาทเพื่อการสำรวจอวกาศ แต่ทุกโครงการใหญ่ของ NASA ก็มีอิทธิพลต่อการรับรู้เกี่ยวกับอวกาศไปทั่วโลก เช่นโครงการล่าสุดอย่างอินไซต์ (InSight) ที่สำรวจโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในดาวอังคาร ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารเป็นจำนวนมาก


ในขณะที่องค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China National Space Administration: CNSA) สร้างผลงานการสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งคนขึ้นไปบนอวกาศ การสร้างยานอวกาศรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทุ่มงบประมาณในภารกิจอวกาศไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของ NASA หรือราว ๆ 3.9 แสนล้านบาท


อันดับที่ 3 คือ ESA (European Space Agency) ที่เป็นหน่วยงานอวกาศของยุโรปที่เกิดจากการรวมตัวของชาติสมาชิกในสหภาพยุโรปกว่า 22 ประเทศ ทำให้มีงบประมาณมากกว่าปีละ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดูแลและจัดการสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ร่วมกับรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การอวกาศของรัสเซีย ที่มีงบประมาณเป็นอันดับที่ 4 ซึ่งมีงบเป็นครึ่งหนึ่งที่ประมาณปีละ 1.1 แสนล้านบาท


ในขณะที่เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ก็มีองค์กรด้านการวิจัยและสำรวจอวกาศเป็นของตัวเองเช่นกัน ศูนย์ DLR (German Aerospace Center) ของเยอรมนีมีงบประมาณปีละ 9 หมื่นล้านบาท และส่วนศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งชาติของฝรั่งเศส (National Centre for Space Studies) ได้รับงบประมาณปีละ 8.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หน่วยอวกาศแห่งชาติของอิตาลี (Italian Space Agency: ASI) ก็ได้รับงบประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยทั้งสามหน่วยงานมีหน้าที่ในด้านการพัฒนาระบบดาวเทียมและการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติด้านอวกาศเป็นหลัก


องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ก็เป็นอีกองค์กรที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าในวงการอวกาศโลก ด้วยงบประมาณกว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ญี่ปุ่นมีผลงานมากมาย เช่น การสร้างระบบดาวเทียมสำรวจแกนโลกร่วมกับ NASA และการร่วมมือกับโซนี่ (Sony) ในการสร้างระบบสื่อสารด้วยเลเซอร์ 


อินเดียเป็นอีกชาติที่อยู่ในสมรภูมิการสำรวจอวกาศ ภายใต้การนำขององค์การวิจัยอวกาศแห่งชาติ (ISRO) ที่มีงบประมาณปีละ 52,000 ล้านบาท เพื่อดูแลระบบดาวเทียมสำหรับการสื่อสาร และการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ รวมถึงยังมีผลงานในปี 2014 ในการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคารด้วยงบเพียง 2,600 ล้านบาท ที่ถือเป็นการส่งยานสำรวจไปโคจรดาวอังคารที่ถูกที่สุดในโลกอีกด้วย


หน่วยอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) เป็นอีกหน่วยงานที่มีผลงานร่วมกับ NASA มาก่อนในการทำระบบโทรคมนาคมบนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้รับงบประมาณปีละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9 พันล้านบาท โดยองค์กรนี้มีแผนจะยกระดับความสามารถในการสร้างยานอวกาศของตัวเองในอนาคตอันใกล้


ทั้ง 10 องค์กรเป็นแนวหน้าในการผลักดันการสำรวจอวกาศ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระดับองค์ความรู้ที่มวลมนุษยชาติมีต่ออวกาศและจักรวาล รวมถึงสามารถช่วยให้เราย้อนกลับมาศึกษาโครงสร้างของโลกได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย



ที่มาข้อมูล Rankred

ที่มารูปภาพ NASA via Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง