โลกเจอลานีญา 3 ปีซ้อน ภัยเงียบต้นกำเนิดภัยพิบัติ ทำโลกเสียหายนับแสนล้าน
ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ กับ ‘ลานีญา’ คือเหตุการณ์ที่ซีกโลกหนึ่งเกิดภัยแล้ง แต่อีกซีกโลกหนึ่งกำลังเกิดน้ำท่วม ในทางกลับกัน หากซีกโลกฝั่งเอเชียเกิดน้ำท่วม อีกซีกโลกหนึ่งก็กำลังเกิดภัยแล้ง ซึ่งปัจจุบัน โลกกำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ ลานีญา
อีกทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่า ปีนี้เกิดลานีญา 3 ปีซ้อนเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดสภาวะแปรปรวน และยังทำให้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 รุนแรงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น จะรุนแรงขนาดไหน และเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร TNN Tech จะเล่าถึงที่มาของปรากฏการณ์ดังกล่าว
อะไรคือ เอลนีโญ ลานีญา
เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกอุ่นขึ้นผิดปกติ โดยตามปกติ ลมค้า ซึ่งเป็นลมประจำปีมักจะพัดผ่านพื้นผิวของเขตร้อนชื้นในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในสภาวะเอลนีโญ กระแสลมค้าตะวันออกจะอ่อนกำลังลงกว่าปกติ ทำให้กระแสลมพื้นผิวเปลี่ยนทิศทางและพัดเอากระแสน้ำอุ่นไปทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกน้อยลง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้นบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย และฝนตกมากบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกา ขณะเดียวกันกระแสน้ำอุ่นก็ไหลย้อนกลับพัดเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิบริเวณประเทศเปรูและเอกวาดอร์ ขณะที่ ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือกลับแห้งแล้งและเกิดไฟป่ารุนแรง
สำหรับ ‘ลานีญา’ (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ โดยอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกจะเย็นลงผิดปกติ เนื่องจากลมค้าแรงมากกว่าปกติ จึงพัดเอากระแสน้ำทะเลที่อุ่นไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของฝั่งตะวันตกที่สูงกว่าฝั่งตะวันออกอยู่แล้วสูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเกิดฝนตกหนัก ส่วนด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ต้องเผชิญความแห้งแล้งอย่างรุนแรง
จากข้อมูลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณนอกชายฝั่งอเมริกาใต้เย็นตัวลง ในขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกกลับร้อนขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับห้วงน้ำอื่น ๆ ของโลก สภาพการณ์นี้ทำให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดเป็นกระแสลมพัดแรงเข้าหาอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงขึ้นตามไปด้วย
ที่มาของรูปภาพ Reuters
โลกเผชิญลานีญา 3 ปีซ้อน
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว เอลนีโญและลานีญามักเกิดขึ้นทุกๆ ทุกๆ 2-7 ปี โดยเอลนีโญมักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 1 ปี ขณะที่ลานีญาสามารถเกิดขึ้นได้ยาวนานยิ่งกว่าประมาณ 9 เดือนถึง 2 ปี แต่ปัจจุบัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศว่าปรากฏการณ์ลานีญา เกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญารอบปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 โดยการเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน เป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ ระหว่างช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001
ขณะที่มียังงานวิจัยจากหลากหลายสถาบันในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Geophysical Research Letters ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุถึงหลักฐานจากการติดตามความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำ ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ชี้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่วงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยฝีมือมนุษย์
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถึงข้อมูลของ Aon บริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ธุรกิจระดับโลก ระบุว่า ภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้โลกต้องสูญเสียเงินกว่า 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 และอีก 3.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (12.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
มีการประเมินว่าราคาของทุกอย่างตั้งแต่กาแฟ ไปจนถึงถ่านหินที่ใช้ในการผลิตเหล็กได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ และเมื่อต้นทุนเหล่านั้นสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสงครามที่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ลานีญาก็ยังส่งผลกระทบในระดับเดียวกันไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก โดยช่วงปีที่ผ่านมา ภัยแล้งในอเมริกาเหนือแผ่ขยายไปทั่วภาคตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ทำให้อ่างเก็บน้ำแห้งขอด และเกิดสภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทาน และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นวงกว้าง ส่วนที่ออสเตรเลีย เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์ และวิกตอเรีย น้ำท่วมยังคร่าชีวิตผู้คน บ้านเรือนเสียหายกว่า 15,000 หลัง และต้องมีการจ่ายสินไหมทดแทนสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์
ลานีญากับประเทศไทย
สำหรับลานีญา มีส่งผลกระทบกับประเทศไทยทั้งทางตรงคือ ทำให้เกิดฝนตกหนักผิดฤดู รวมถึงเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง รวมทั้งเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน ส่วนทางอ้อมก็คือ ทำให้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 รุนแรงขึ้น
ที่มาของรูปภาพ Reuters
โดยรศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญปัญหาปรากฏการณ์ลานีญาจะทำจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน และอาจยืดเยื้อได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 อย่างไรก็ตาม หลังจากลานีญาทำจุดสูงสุดในช่วงพฤศจิกายน ก็จะมีกำลังลดลงเรื่อย ๆ แต่ปัญหาที่น่าจับตาคือสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปัญหาฝุ่นควัน เนื่องด้วยอากาศหนาวเย็น ลมอ่อน และปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ จากส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จากภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์และรถบรรทุก และการเผาในภาคเกษตรที่จะเป็นช่วงที่นาข้าวเก็บเกี่ยวเสร็จและจะมีการจัดการแปลงด้วยการเผาเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่เกิดขึ้น โดยจะทำให้ภาคกลาง บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝุ่นหนักที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม นอกจากนี้ยังมีฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศกัมพูชามาสมทบเพิ่มเติมอีกด้วย
ขณะที่ลานีญาที่ยืดเยื้อจะทำให้พื้นที่ตอนล่างของประเทศ หรือภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก มีค่าฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 โดยช่วงวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนกลางจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากในวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2565 คือจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วน ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 คือจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนตอนบนของประเทศ ปริมาณฝนจะกลับมาเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่บางพื้นที่ของภาคกลาง อีสาน และเหนือ จะเจอฤดูแล้งสั้น ๆ ในราวเดือน ธันวาคม 2022 ดังนั้น ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้สำหรับพื้นที่ดังกล่าว ก็อาจจะรุนแรงกว่าปีที่แล้วเพราะจะไม่มีฝนตกช่วย
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ส่วนอากาศหนาวเย็นกว่าปกติจะเกิดขึ้น มีเพียงกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก และตะวันตกบางพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้สัมผัสกับอากาศหนาวเย็นกว่าปกติช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ขณะที่ภาคเหนืออุณหภูมิคาดว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติจากนี้ไปถึงอย่างน้อยเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ส่วนพื้นที่อื่น ๆ อากาศจะหนาวเย็นเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ
ทั้งนี้ จากปรากฎการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ทำให้เราสรุปได้ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงกำลังเกิดขึ้น และแม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าประเทศในฝั่งภูมิภาคแปซิฟิก หรือภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดคลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง ที่ทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนาน แต่ในประเทศไทยก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาจากลานีญา ที่เป็นตัวเร่งฝุ่นควัน PM 2.5 ที่สร้างมลภาวะ และบ่อนทำลายสุขภาพ รวมถึงปัญหาฝนตกหนัก รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในระดับยืดเยื้อ และยาวนาน
หากมีการรู้เท่าทัน และเตรียมตัวรับมือถึงสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมกับมีกลไกการเตรียมรับมือจากภาครัฐ ควบคู่การเปลี่ยนพฤติกรรมในภาคประชาชนที่ทำให้เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศ และเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ภัยเงียบของ ลานีญา ก็จะอันตรายน้อยลงกว่าที่เคย
ที่มาของข้อมูล bbc.com bloomberg.com
ที่มาของรูปภาพ Reuters