รีเซต

เดินหน้า “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” เปิดแผนดำเนินงาน 8 ขั้นตอน

เดินหน้า “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” เปิดแผนดำเนินงาน 8 ขั้นตอน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2568 ( 13:39 )
24

รมว.ท่องเที่ยวฯ เดินหน้าโครงการ “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” ชูแนวคิดอนุรักษ์-เข้าถึงธรรมชาติอย่างเท่าเทียม

วันนี้ ( 21 พ.ค. 68 ) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” โดยมี นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. ร่วมแถลงข่าวในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการออกแบบและดำเนินโครงการ

อนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยี – สร้างโดยไม่รบกวนธรรมชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า การออกแบบกระเช้าไฟฟ้าจะยึดหลัก "Minimum Intervention" หลีกเลี่ยงการรบกวนพื้นที่ธรรมชาติ โดยการก่อสร้างจะครอบคลุมเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งมีความสำคัญสูงต่อระบบนิเวศ โครงการจึงต้องผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียดและเข้มข้น พร้อมทั้งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ อย่างโปร่งใส

"โครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ยังเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดการเดินเท้าและพักแรมบนภู ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ในระยะยาว" นายสรวงศ์กล่าว

ยกระดับชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

กระเช้าภูกระดึงจะช่วยให้การท่องเที่ยวบนยอดภูสามารถทำได้ในหนึ่งวัน เปิดโอกาสให้ชุมชนรอบตีนภูพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมพื้นถิ่น อพท. ยังมีแผนจัดสรรพื้นที่พาณิชย์ให้กับกลุ่มลูกหาบผ่านกลไกวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

โครงการยังถูกออกแบบให้รองรับภารกิจฉุกเฉิน เช่น การลำเลียงผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ หรือสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ ช่วยลดความสูญเสียในสถานการณ์วิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แผนดำเนินงาน 8 ขั้นตอน

นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการ อพท. เปิดเผยว่า โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงมีแผนดำเนินงานหลัก 8 ขั้นตอน ใช้เวลารวมประมาณ 2 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 ถึงพฤศจิกายน 2570 แบ่งเป็น 3 ระยะหลัก ได้แก่:

  • ระยะที่ 1 (พ.ค. 2568 - มี.ค. 2569): จัดทำรายงาน EIA พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
  • ระยะที่ 2 (เม.ย. - ส.ค. 2569): เสนอรายงาน EIA ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สผ. คชก. กก.วล. และขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ
  • ระยะที่ 3 (ก.ย. 2569 - พ.ย. 2570): ดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 12 เดือน

"นี่ไม่ใช่เพียงโครงการของรัฐบาลหรือกระทรวงฯ แต่เป็นโครงการของสังคมไทยทั้งประเทศ ที่ต้องร่วมมือกันดูแลธรรมชาติและใช้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่กับการอนุรักษ์" นายสรวงศ์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ และ อพท. จะดำเนินงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ องค์กรปกครองท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง