รีเซต

เจ้านายกำลังจับตามองคุณ ! บริษัทอาจใช้ Neurotech และ AI เฝ้าดูพนักงานในอนาคต

เจ้านายกำลังจับตามองคุณ ! บริษัทอาจใช้ Neurotech และ AI เฝ้าดูพนักงานในอนาคต
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2566 ( 15:30 )
86

ถ้าพูดถึงนิยายหรือภาพยนตร์แนวดิสโทเปีย (Dystopia) หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับโลกสมมติ ที่ผู้มีอำนาจจะใช้เทคโนโลยีควบคุม จับตามองดูทุกคนทุกฝีก้าว เช่น “พี่เบิ้ม” หรือ Big Brother จากนวนิยาย หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ชื่อดังของจอร์จ ออร์เวลล์ หรือ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (The Handmaid’s Tale) ที่ดัดแปลงเป็นซีรีส์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้


พี่เบิ้ม ภาพจาก moderndiplomacy

 

แต่ว่าในอนาคตอันใกล้ โลกแห่งความเป็นจริงอาจจะเดินทางเข้าสู่สังคมที่คล้ายกับในเรื่องแต่งเหล่านี้ก็เป็นได้ เพราะ สำนักงานคณะกรรมาธิการด้านข้อมูลข่าวสารแห่งสหราชอาณาจักร (Information Commissioner’s Office: ICO) ได้ออกมาเตือนว่า ในอนาคต บริษัทต่าง ๆ อาจนำ “Neurotechnology” หรือ ประสาทเทคโนโลยี และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เฝ้าดูพนักงาน หรือสรรหาบุคลากร พร้อมกับออกรายงานระบุว่าสำนักงานฯ กำลังร่างแนวทางการใช้งานเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลสมอง เพื่อป้องกันการใช้งานในทางที่ผิด หรือละเมิดจริยธรรม 


Neurotechnology คืออะไร ? 

Neurotechnology (นิวโรเทคโนโลยี) หรือประสาทเทคโนโลยี เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองมนุษย์ ไม่ว่าจะการทำงานของสมอง ประสาทสัมผัส จิตใต้สำนึก และความคิดต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา หลายหน่วยงานได้ทดลองนำเทคโนโลยีนี้ มาเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ และประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับสมองมนุษย์ 


ก่อนหน้านี้ หน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ พัฒนาการใช้เครื่องตรวจจับการทำงานของสมอง (Brain monitors) และอุปกรณ์ฝังสมอง (Brain implants) ใช้ทางการแพทย์เป็นหลัก เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน หรือแม้แต่อาการอัมพาต ! อย่างในกรณีของ เกิร์ต-ยาน ออสคัม (Gert-Jan Oskam) ผู้ประสบอุบัติเหตุขณะขี่จักรยาน จนกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตบริเวณขา ต้องนั่งรถเข็น ซึ่งเขาได้ประสาทเทคโนโลยีมาช่วยรักษาจนเปลี่ยนชีวิต กลับมาเดินได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง 


โดยบริษัทใหญ่ ๆ เช่น นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ และ แบล็คร็อค นิวโรเทค (Blackrock Neurotech) ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ฝังสมองเพื่อใช้ในการแพทย์และ “อัปเกรดสมอง” ด้วยเช่นกัน


 

ปวดหัวกับ AI กันต่อ

การใช้ประสาทเทคโนโลยีอาจฟังดูล้ำหรือไกลตัวเกินไป แต่สำนักงานด้านข้อมูลยังคาดว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีช่วยส่วนให้เทคโนโลยีพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย เช่นเดียวกับการใช้ประสาทเทคโนโลยี


โดยสำนักงานฯ กล่าวว่าภายใน 5 ปี บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ติดตามการทำงานของพนักงานกันมากขึ้น เพื่อดูแลความปลอดภัย ติดตามประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยสรรหาบุคลากรให้เหมาะกับงานมากขึ้น เช่น หมวกหรืออุปกรณ์คาดศีรษะที่จะคอยเตือนพนักงานระมัดระวังและมีสมาธิมากขึ้น ขณะทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง 


เลือกที่รักมักที่ชัง

อย่างไรก็ตาม การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในที่ทำงานแบบนี้ อาจก่อให้เกิดความเครียดในที่ทำงานมากขึ้น เพราะพนักงานรู้สึกไม่มีระยะห่างความเป็นส่วนตัว เหมือนถูกจับตามองทุกฝีก้าว


นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากปัญญาประดิษฐ์อาจจะมีอคติแฝงอยู่ ซึ่งเกิดจากฐานข้อมูลที่ป้อนให้มีความเอนเอียงไม่เป็นกลาง สำนักงานยังกังวลด้วยว่า ต่อให้ข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์เป็นกลางขนาดไหน ผู้บังคับบัญชาที่เป็นมนุษย์ อาจนำข้อมูลดังกล่าวมาแอบอ้างเพื่อเลือกปฏิบัติต่อพนักงานบางกลุ่มด้วยเช่นกัน



ภาพจาก Unsplash

 

ทุกอย่างย่อมมีสองด้าน

ในปัจจุบัน การใช้ประสาทเทคโนโลยีในทางการแพทย์มีกฎควบคุมเข้มงวด อย่างไรก็ตาม สำนักงานด้านข้อมูลของสหราชอาณาจักรกังวลว่าบริษัทต่าง ๆ อาจนำเทคโนโลยีข้อมูลจากสมองมาใช้งานในทางที่ผิด และรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอคติและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน สำนักงานจึงเห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ควรวางกฎระเบียบใหม่ในการใช้งานประสาทเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ เช่น การตลาด วงการกีฬา หรือแม้กระทั่งในที่ทำงาน เพื่อป้องกันการละเมิดจริยธรรม


โดยรายงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่สำนักงานด้านข้อมูลสหราชอาณาจักรกล่าวถึงการใช้ข้อมูลของสมอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐเองเริ่มเป็นกังวลและตื่นตัวกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวันอยู่


ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมาธิการด้านข้อมูลข่าวสารจึงกำลังร่างแนวทางการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสมองมนุษย์ การตีความเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งใจว่าจะจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปีค.ศ. 2025 แต่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีกำลังล้ำหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าทิศทางในอนาคตของเทคโนโลยีสุดล้ำเหล่านี้จะไปในทิศทางไหน แล้วเราจะได้ประโยชน์หรือผลเสียมากกว่ากัน 


ที่มาข้อมูล BBC, ICO, Everydaymarketing

ที่มาภาพ Freepik, ModerndiplomacyUnsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง