นักวิจัยกัมพูชาเร่งค้นหาแหล่งที่มาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในค้างคาว
ภาพจากแฟ้มภาพ/ Youtube TNN Online
วันนี้ (20ก.ย.64) คณะนักวิจัยได้เก็บรวบรวมตัวอย่างต่างๆ จากค้างคาวในจังหวัดทางตอนเหนือของกัมพูชา เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าว เคยพบไวรัสที่คล้ายคลึงกันมากในสัตว์ต่างๆ เมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีการเก็บตัวอย่าง 2 ตัวอย่างจากค้างคาวมงกุฏที่จังหวัดสตรึงเตรง ทางเหนือสุดของกัมพูชาใกล้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) และนำไปเก็บไว้ในตู้แช่แข็งของสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา ( IPC ) ในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2010
ผลการทดสอบตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อปีที่แล้ว พบว่า มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4.6 ล้านราย
ทั้งนี้ คณะวิจัย IPC ซึ่งมีสมาชิก 8 คน ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างต่างๆ จากค้างคาว และหวังว่าผลจากการศึกษาดังกล่าว สามารถช่วยโลกให้มีความเข้าใจในเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
สำหรับสัตว์สายพันธุ์ที่เป็นพาหะของไวรัส เช่น ค้างคาว ไม่ปรากฏอาการของโรค แต่สามารถเป็นอันตรายได้ หากค้าวคาว แพร่เชื้อสู่คนหรือสัตว์อื่น ที่ไม่ได้เป็นพาหะ
ดร.Veasna Duong หัวหน้าภาคไวรัสวิทยาของสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา เปิดเผยว่า สถาบัน IPC ของเขา ลงพื้นที่ 4 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำการวิจัย และหวังได้ร่องรอยของแหล่งที่มา กับวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่เกิดจากค้างคาว ดร.Veasna Duong กล่าวต่อไปว่า มนุษย์คือผู้รับผิดชอบโควิดระบาด เพราะมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวและทำลายที่อยู่อาศัยตามธรมชาติของสัตว์ หากมนุษย์พยายามเข้าใกล้สัตว์ป่าจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสจากสัตว์มากกว่าปกติ และนำไปสู่การแพร่เชื้อให้มนุษย์ด้วยกัน