รีเซต

โควิด-19 ซ้ำเติม ครอบครัว 'ลูกเล็ก'

โควิด-19 ซ้ำเติม ครอบครัว 'ลูกเล็ก'
มติชน
7 พฤษภาคม 2563 ( 10:40 )
295
โควิด-19 ซ้ำเติม ครอบครัว 'ลูกเล็ก'

โควิด-19 ซ้ำเติม ครอบครัว ‘ลูกเล็ก’

หลายครอบครัวกำลังส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ภายหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด เพราะรายได้ลดลง บางคนก็หนักข้อถึงขั้นตกงาน ไหนจะมีภาระทางบ้าน ตั้งแต่ค่ากินค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะสมาชิกหลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ท่ามกลางหนี้สินที่ยังเดินหน้าต่อไป ทำให้ครอบครัวที่มี “เด็กเล็ก” เสมือนเจอมรสุมครั้งใหญ่

กระทั่ง ค่านมผงนมกล่องให้ลูกยังไม่มี!!

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เล่าว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป ตั้งแต่ค่านมผง นมกล่อง ค่าแพมเพอร์ส ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ผมมีความเป็นห่วงครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำที่มีเด็กเล็ก ที่จะกระทบหนัก เพราะการปิดร้านค้าต่างๆ นอกจากทำให้พวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้ พวกเขายังอาจหาซื้ออาหารและน้ำดื่มไม่ได้อีกด้วย ยิ่งโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กต้องปิดไปอีก ทำให้เด็กต้องกักตัวอยู่บ้าน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแล

“ช่วงเวลาที่เด็กต้องอยู่บ้านกับพ่อแม่ผู้ปกครอง กับครอบครัวที่มีฐานะ ผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ แต่ห่วงครอบครัวที่ยากจน ที่เขาอาจไม่สามารถสอนและส่งเสริมพัฒนาลูกได้ เพราะไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ ตรงนี้จะกระทบกับการเรียนรู้ของเด็กแน่ ยิ่งหาก 1 กรกฎาคม ไม่สามารถเปิดเทอมได้ จะต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรูปธรรมเท่าไหร่ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่มาก”

จริงๆ ปัจจุบันในครอบครัวที่ยากจน โดยเฉพาะที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว จะได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีเดือนละ 600 บาท ซึ่งปัจจุบันมีแม่และเด็กที่ได้รับสิทธิประมาณ 1 ล้านกว่าคน ในสถานการณ์ปกติแทบจะยังไม่พอ ฉะนั้นในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนี้ แม่และเด็กจึงอยากได้เพิ่มหนักมาก

ดร.สมชัย เล่าอีกว่า ตอนนี้คิดว่ารัฐคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งตนและภาคเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน กำลังจะเสนอรัฐบาลในเร็วๆ นี้ให้เพิ่มเงินจาก 600 บาทเป็น 2,000 บาทต่อเดือน และเปลี่ยนมาให้แบบถ้วนหน้า ซึ่งข้อเสนอนี้จะใช้งบประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท จากปัจจุบันที่ใช้ 1 พันกว่าล้านบาท

รอรัฐบาลมาเยียวยาช่วยเหลืออาจต้องใช้เวลา ดร.สมชัยจึงเสนอให้ครอบครัวช่วยตัวเองก่อนว่า เริ่มจากการประหยัดในเรื่องที่ยังฟุ่มเฟือย เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นหวย หรือวิธีการใดที่คลายเครียดและเสียเงิน เหล่านี้หากไม่จำเป็นจะต้องลด

“ในสถานการณ์นี้ต้องจับเข่าคุยกับลูกว่าของเล่นที่เคยสัญญาจะซื้อให้ ต้องรอไปก่อน คุยกันให้เข้าใจ แล้วชวนมาย้อนยุคเล่นของเล่นโบราณที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ม้าก้านกล้วย โดยที่พ่อแม่ก็จะได้ขุดคุ้ยความทรงจำเก่าๆ ขึ้นมา รวมถึงของหวาน น้ำหวาน ที่เด็กชอบกิน ก็ต้องลดเลิกไปก่อน ตรงนี้นอกจากประหยัดแล้ว ยังมีต่อสุขภาพเด็กและคนในครอบครัวอีกด้วย” ดร.สมชัยกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความเดือดร้อน เช่น ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ไม่มีกิน ไม่มีที่นอน ยังมีกลไกของรัฐที่ช่วยเหลือได้ เพียงโทรสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือไปที่หน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตามจังหวัด อย่างน้อยๆ จะได้เงินสงเคราะห์แบ่งเบาทุกข์ร้อนไปได้บ้าง ระยะยาวยังขอฝึกอาชีพได้อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง