รีเซต

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ขอบคุณภาครัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ช่วยศก.เติบโตอย่างยั่งยืน

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ขอบคุณภาครัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ช่วยศก.เติบโตอย่างยั่งยืน
มติชน
27 กันยายน 2564 ( 13:13 )
44

ข่าววันนี้จ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด” ภายในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า วิกฤตโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลขจีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลขจีดีพีก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้าง ที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญ โดยเฉพาะภาคบริการ การท่องเที่ยว รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด

 

ภาคการผลิตก็ได้รับผลหนักเช่นกัน จากการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เช่น การทำ Bubble and Seal รวมไปถึงการขาดแคลนชิป และตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งภาคครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบ จากการจ้างงานที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยจากข้อมูลการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เทียบกับแรงงานทั้งหมดที่ 39 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม มีจำนวน 2 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่ 5 แสนคน

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า บทบาทสำคัญของ ธปท. คือ ต้องดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ เพราะธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ และไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อ จะมีสูง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม จะเห็นได้ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง ดูได้จาก 3 เหตุผล คือ (1) สินเชื่อยังโตใกล้เคียงกับก่อนโควิด (2) สินเชื่อยังโตได้ดีแม้ในภาวะวิกฤต และ (3) สินเชื่อของไทยยังโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค

 

การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร บทบาทของภาครัฐเข้าไปเสริม โดยดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะการเงินให้ผ่อนคลายต่อเนื่อง มีการปรับลด FIDF fee ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงนี้ไปช่วยลดภาระต่อให้ลูกหนี้ รวมไปถึงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังไม่เพียงพอ ธปท. จึงได้ผลักดัน พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากขึ้น โดยใช้การค้ำประกันผ่าน บสย. มาช่วยลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6 เดือน

 

รวมทั้ง ธปท. ได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เหมาะกับปัญหา โดยให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากในช่วงนี้ และช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายเวลาชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็ว โดย ธปท. จะติดตามดูแลการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด

 

“ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ กลไกสถาบันการเงินของรัฐ และกลไกเสริมจาก ธปท. ก็คงยังจะมีคำถามจากหลายท่านในที่นี้ว่า เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว มีเพียงพอ ทั่วถึงทุกคน หรือช่วยเท่าที่ทุกคนต้องการแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ได้ทั้งหมด ด้วยวิกฤตที่หนัก กว้าง และรุนแรงขนาดนี้ เราต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การปรับตัวที่จำเป็นต่อการวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ในระยะข้างหน้า มีหลายเรื่องที่เป็นกระแสใหม่ แต่จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่มาแรงและเร็ว อย่างแรก คือ กระแสเรื่องดิจิทัล มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมในการรองรับกระแสดิจิทัลนี้ เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน อย่างที่สอง คือ ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่จะรวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว

 

ธปท. ก็ต้องปรับตัวอย่างน้อย 3 ด้าน คือ (1) การดูแลให้บรรยากาศในภาคการเงินเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน (2) ต้องเพิ่มสมดุลระหว่างการเอื้อให้มีนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ และ (3) ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอี ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของระบบการเงินไทย

 

“ภาครัฐเองต้องปรับตัว สู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง