รีเซต

เหตุใดนาโตยังไม่รับยูเครน ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชาติตะวันตก กับเส้นทาง 15 ปีที่สูญเปล่า?

เหตุใดนาโตยังไม่รับยูเครน ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชาติตะวันตก กับเส้นทาง 15 ปีที่สูญเปล่า?
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2566 ( 15:06 )
46
เหตุใดนาโตยังไม่รับยูเครน ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชาติตะวันตก กับเส้นทาง 15 ปีที่สูญเปล่า?

เพราะเหตุใดกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนกับยูเครนมากที่สุด เพื่อรับมือกับกองทัพรัสเซีย จึงไม่สามารถรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกได้ แม้ว่ายูเครนจะดำเนินการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกแบบเร่งด่วน และก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 31 ของกลุ่ม ส่วนสวีเดนก็จะได้เข้าเป็นสมาชิกเร็ว ๆ นี้ หลังได้รับการยอมรับจากตุรกีแล้ว


---สัญญาที่คลุมเครือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว---


หนทางการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน ดูเหมือนจะหยุดชะงักเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต ณ บูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เมื่อปี 2008 ที่การหามติเอกฉันท์ในการรับจอร์เจีย และยูเครน อดีตประเทศสหภาพโซเวียด เข้าเป็นสมาชิกนาโตนั้นล้มเหลว แต่ทั้ง 2 ประเทศได้รับข้อเสนอที่คลุมเครือในการสามารถเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่มได้ในอนาคต โดยไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่สุดของโลกเมื่อไหร่ 


“ประตูยังเปิดอยู่ พวกเขาบอกกับเรา แต่พวกเขาไม่ได้บอกเรา ถึงหนทางในการหาประตูเหล่านี้ และวิธีการเข้าไปข้างใน” โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยูเครน กล่าว 


ด้านยูเครน และจอร์เจียต่างพบว่า ในช่วงเวลานั้น ตัวเองกำลังตกอยู่ในสองสถานะ นั่นคือ สมาชิกนาโตในอนาคต ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากชาติพันธมิตร โดยเฉพาะในมาตรา 5 ของนาโต ที่ระบุว่า “การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของพันธมิตรนาโต จะเท่ากับการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ”  


นอกจากนี้ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้รับเชิญในฐานะแขกของนาโตเข้าร่วมประชุมครั้งดังกล่าว โดยเขาได้ส่งข้อความถึงนาโตอย่างชัดแจ้งว่า การเข้าเป็นสมาชิกนาโตของจอร์เจียและยูเครน ถือเป็น “ภัยคุกคามโดยตรงของรัสเซีย” หลังก่อนหน้านี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบิล คลินตัน เคยให้สัญญากับรัสเซียว่า นาโตจะไม่ขยายอิทธิพลเข้าไปในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต 


“สถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย คือการนั่งอยู่ในห้องรอคอยของนาโต และพวกเราก็ทำแบบนั้นกับจอร์เจีย และยูเครน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว” มาร์กุส ซาห์คน่า รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย กล่าว 


ทั้งนี้ การไม่ลงรอยกันของข้อตกลงในครั้งนั้น ทำให้จอร์เจีย และยูเครนตกเป็นเป้าของการรุกรานจากรัสเซีย เนื่องจากเป็นการยั่วยุปูตินให้ดำเนินการต่อต้านการขยายตัวของนาโตบนชายแดนของเขา และอาจเป็นเพราะความล้มเหลวอย่างชัดเจนของนาโตในการคุ้มครองความปลอดภัยที่จะสามารถครอบคลุมไปยังรัฐเหล่านี้ ส่งผลให้อีกไม่กี่เดือนต่อมา กองทัพรัสเซียได้ยึดออสเซเทียใต้และอับคาเซียของจอร์เจีย นอกจากนี้ ในปี 2014 รัสเซียก็ได้ผนวกดินแดนไครเมีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วย

  

---ชาติตะวันตกหวั่นเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย---


การตัดสินใจว่ายูเครนจะเข้าร่วมนาโตหรือไม่ เป็นหนึ่งในคำถามด้านความมั่นคงที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกมากที่สุดของยุโรป เพราะการตัดสินใจยอมรับยูเครนจะเป็นการขยายคำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ในมาตรา 5 ของนาโต แม้ว่าการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว จะไม่มีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็อาจจะทำให้บรรดาผู้นำชาติตะวันตกต้องเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากสุดของโลกในอนาคต และยังเสี่ยงทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ถ้ารัสเซียโจมตีประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง 


แม้ยูเครนจะได้แรงหนุนจากประเทศสมาชิกบางส่วนในการเข้าร่วมนาโต แต่สมาชิกบางประเทศก็ไม่เห็นด้วยที่จะรับยูเครนเข้ามา โดยเฉพาะโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CNN เมื่อวันอาทิตย์ (9 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ว่า ยูเครนยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่นาโต ยิ่งไปกว่านั้น พันธมิตรนาโตยังไม่พร้อมที่จะให้ยูเครนก้าวสู่ประวัติศาสตร์สำคัญในการเข้าร่วมกลุ่ม เพราะนั่นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย 


“ผมไม่คิดว่า จะมีมติเป็นเอกฉันท์ในนาโตว่า ควรจะนำยูเครนเข้าสู่ครอบครัวนาโตตอนนี้หรือไม่ ในช่วงเวลานี้ ที่อยู่ท่ามกลางสงคราม” ไบเดน กล่าว


ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า ชาติพันธมิตรจำเป็นต้องวางเส้นทางที่มีเหตุผลสำหรับการเป็นสมาชิกของยูเครน ที่ยังขาดข้อกำหนดบางประการในการเข้าร่วมนาโต รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วย 


ขณะที่ ยูเครนได้เตือนบ่อยครั้งว่า ยูเครนกำลังต่อสู้ในสงครามของยุโรป เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซีย และยูเครนช่วยทำให้ศัตรูตัวฉกาจของนาโตอ่อนแอลง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ยูเครนควรได้รับการรับประกันด้านความมั่นคงจากนาโตด้วย


“มันจะเป็นข้อความที่สำคัญที่จะบอกว่า นาโตไม่กลัวรัสเซีย” เซเลนสกี กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ABC News เมื่อวันอาทิตย์ (9 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา


---อาจยกระดับเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์--- 


ความเสี่ยงในการปะทะกับรัสเซียในอนาคตมีน้ำหนักอย่างมากในความคิดของนักวิเคราะห์หลายคน เบน ฟรีดแมน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Defense Priorities กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควรรับประกันด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครน และไม่ควรทำในตอนนี้ ผ่านกลุ่มนาโต หรือ ช่องทางอื่น ๆ ที่จะรับประกันความมั่นคงทวิภาคีบางประเภท 


ฟรีดแมน แย้งด้วยว่า แม้ยูเครนจะยืนหยัดต่อต้านอย่างกล้าหาญ แต่การพิจารณาถึงผลประโยชน์ในวงกว้างของสหรัฐฯ ต้องมาก่อน 


“การรับประกันด้านความมั่นคงให้ยูเครนจะเป็นการกัดเซาะความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัดในการทำสงครามกับรัสเซีย...นั่นคือความเสี่ยง แน่นอนว่า ทำให้สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์เลวร้ายลง และเป็นความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ไม่ได้อะไรเลยในแง่ของความมั่นคง


---ยูเครนต้องชนะ ถึงจะได้เป็นสมาชิกนาโต ?---


มีการถกเถียงกันทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน โดยไบเดน เตือนว่า การทำเช่นนั้น ในช่วงภาวะสงครามจะทำให้พันธมิตรนาโต ต้องปกป้องพันธมิตรใหม่ทันที เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า การป้องกันโดยรวมของกลุ่มนั้นมีความหมาย 


“ผมหมายความตามที่ผมพูด มันเป็นพันธะสัญญาที่เราต้องทำทั้งหมดไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าสงครามยังดำเนินอยู่ หากเป็นเช่นนั้น เราทั้งหมดจะเข้าสู่สงคราม เราจะต้องทำสงครามกับรัสเซีย” ไบเดน กล่าว 


ขณะที่ ไมเคิล แมคคอล ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องยูเครนเข้าร่วมนาโตในทันที 


“ประการแรก ยูเครนต้องชนะฝ่ายรุกราน ประการที่สอง ต้องมีการหยุดยิงและมีการเจรจาหาข้อยุติโดยสันติ เราไม่สามารถรับยูเครนเข้าร่วมนาโตได้ในทันที นั่นจะเป็นการผลักเราเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย”


“ดังนั้น ผมคิดว่าบทสนทนาควรจะเกี่ยวกับข้อตกลงด้านความมั่นคงใดที่สามารถใช้กับยูเครนได้ เพื่อเป็นการบ่งชี้ถึงการที่ยูเครนจะเข้าสู่นาโต” เขาพูดพร้อมเสริมว่า “เราต้องระมัดระวังในการทำเช่นนี้” แมคคอล กล่าว 


อย่างไรก็ตาม บทความจากสำนักข่าว CNN รายงานว่า การเสนอวันเข้าร่วมหลังสงครามสิ้นสุดให้แก่ยูเครน อาจก่อให้เกิดผลตีกลับได้เช่นกัน เพราะจะทำให้เครมลินมีเหตุผลที่จะไม่มีวันยุติความขัดแย้ง และสิ่งนี้จะทำลายความหวังอันริบหรี่ในการหาข้อยุติทางการเมืองหากกองทัพยูเครนยังไม่สามารถขับกองกำลังรัสเซียออกไปได้ทั้งหมด และเสี่ยงที่จะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับปูติน โดยจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับหนึ่งในเหตุผลของปูตินในการบุกยูเครน ที่เขากล่าวหาว่าชาติตะวันตกเป็นผู้จุดชนวนสงครามโดยใช้ยูเครนเป็นข้ออ้าง เพื่อทำให้อำนาจรัสเซียอ่อนแอ


---ชาวอเมริกันไม่เห็นประโยชน์จากการทำสงคราม---


นับตั้งแต่เกิดสงครามเป็นเวลานานกว่า 17 เดือน ชาติพันธมิตรนาโตได้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร และทางด้านการเงินมูลค่ารวมแล้วกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือทางทหารไปมากกว่า 35,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท ล่าสุด ยังประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้วยการติดอาวุธให้ยูเครนในการขับไล่รัสเซีย ในการตัดสินใจส่ง ‘ระเบิดพวง’ ซึ่งถูกห้ามใช้ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ตามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง หรือ Convention on Cluster Munitions: CCM


ขณะที่ ชาวอเมริกันก็ตั้งคำถามว่า ทำไมในท้ายที่สุด ชาวอเมริกัน 330 ล้านคน จะต้องทำสงครามกับรัสเซีย เพื่อปกป้องยูเครน หากเข้าร่วมกับนาโต โดยหวั่นว่าจะเป็นการพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูเหมือนกำลังกระทำการในสิ่งที่คล้ายกับลักษณะของสงครามตัวแทนในยูเครน


ถึงกระนั้น แม้ไบเดนจะออกมาเปลี่ยนจุดยืนการเร่งเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน แต่เขาก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือไม่ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบสหรัฐฯ ออกมาเตือนไบเดนว่า ไบเดนกำลังพาสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 กับรัสเซีย พร้อมให้คำมั่นว่า เขาจะยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งความเห็นดังกล่าว ค่อนข้างที่จะให้ความเห็นอกเห็นใจต่อเป้าหมายของปูติน ซึ่งทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

CNN, Financial TimesWashington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง