รีเซต

สื่อบันเทิงเสมือนจริงบน 5G โอกาสธุรกิจยุค "New Normal"

สื่อบันเทิงเสมือนจริงบน 5G โอกาสธุรกิจยุค "New Normal"
TNN ช่อง16
23 มิถุนายน 2563 ( 10:52 )
471

        สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสเลยทีเดียวโดยเฉพาะบรรดาธุรกิจต่างๆ หลายแห่งต้องปิดตัว เลิกจ้างพนักงาน ส่งผลกระทบกันเป็นโดมิโน และเมื่อผ่านช่วงวิกฤตจนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดในบ้านเราเริ่มคลี่คลาย วิถีการใช้ชีวิตปกติหรือพฤติกรรมของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไป หรือที่คุ้นหูกันแล้วกับ วิถีปกติใหม่หรือ "New Normal" ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตามๆกันไป


        คอนเสิร์ตไอดอลของใครหลายคนต้องชะงักไปเพราะสถานการณ์บีบบังคับ  ซึ่งธุรกิจการแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬาต่างๆ จึงเป็นอีกธุรกิจที่ต้องปรับตัว ด้วยพฤติกรรมการรับชมการแสดงโชว์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากที่รับชมในสถานที่สาธารณะ เป็นการรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) แต่ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในแง่ของอรรถรสในการรับชมเท่ากับการรับชมในสถานที่จริง   


        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) มีศักยภาพยกระดับประสบการณ์รับชมการแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬาขึ้นไปอีกขั้น เพราะเทคโนโลยี VR สามารถนำเสนอมุมมองการรับชมแบบ 360 องศา และยังรองรับระบบเสียงรอบทิศทาง ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับอรรถรสใกล้เคียงกับการรับชมในสถานที่จริง อีกทั้งอุปกรณ์แว่นตา VR ซึ่งใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ในการรับชมยังมีราคาถูกลงในระยะหลัง เนื่องจากมีอุปทานจากผู้ผลิตรายใหม่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยราคาถูกสุดที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อยู่ที่เพียงหลักร้อยบาท ขณะเดียวกันเม็ดเงินตลาดการจัดแสดงโชว์และการแข่งขันกีฬาที่เติบโตในอัตรากว่าร้อยละ 40 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่กว่าพันล้านบาท จึงแสดงให้เห็นว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริง (VR Entertaining Business) สามารถกลายเป็นตลาดบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต


        โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริงน่าจะมีศักยภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านบาท และสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 0.64 ของมูลค่าอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยเบื้องต้น   แต่ในช่วงแรกจะขึ้นอยู่กับการทำการตลาดเพื่อให้ความรู้กับผู้บริโภคในเทคโนโลยีใหม่นี้ ประกอบกับระดับการผ่อนคลายภาวะล็อคดาวน์ในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยข้างต้นจะเป็นตัวกำหนดจังหวะการเติบโตของธุรกิจบันเทิงเสมือนจริงในอนาคต 


        ดังนั้น เทคโนโลยี VR จะเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสทางธุรกิจการบันเทิงเสมือนจริงแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ไทย ถ้าหากบริการดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถต่อยอดรายได้เพิ่มเติมจากการโฆษณา  แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี VR จะสามารถเติมเต็มประสบการณ์ได้ใกล้เคียงกับสถานที่จริงแล้ว อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในแง่ของการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้ชม โดยในอนาคตอาจมีการพัฒนาระบบที่ทำให้ศิลปินสามารถโต้ตอบกับผู้ชมผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป



 ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

-"พร้อมเพย์" จุดเริ่มต้นการใช้จ่าย "New Normal"

-เปิด 3 เทรนด์!! ทางรอดธุรกิจใน "New Normal"

-เปิดทางรอดธุรกิจฟิตเนส! เมื่อต้องปรับตัวรับ"New Normal"

-เปิดเส้นทางแพลตฟอร์มออนไลน์สร้างสรรค์ ธุรกิจตอบโจทย์ "New Normal"


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ข่าวที่เกี่ยวข้อง