NIA ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy: Lifting Off 2022 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีการผนึกกำลังร่วมกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ทั้งนี้ สตาร์ทอัพสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ยังอยู่ในระยะที่เป็นแนวคิดไปจนถึงระยะเติบโต เพื่อผลักดันผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเข้าสู่การเติบโตในเศรษฐกิจอวกาศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา NIA ดำเนินการเร่งส่งเสริมและผลักดันวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (deep tech startup)
มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน มีพื้นฐานจากการวิจัยเชิงลึก และต้องการกระบวนการทางอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ลอกเลียนแบบได้ยาก เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และอินเตอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรน (robot and drone) วัสดุใหม่และนาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) และ เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอวกาศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ ตลาด และเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าสู่ระบบนิเวศร่วมสร้างเศรษฐกิจอวกาศ
“ที่ผ่านมา NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันการเติบโตของผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีเขิงลึกในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอวกาศ จึงได้ร่วมกับโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพให้มีโอกาสเติบโต โดยความร่วมมือกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทยนี้ จะทำให้สตาร์ทอัพมีโอกาสในการทำงานร่วมกับภาครัฐที่มีบทบาทและมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ และร่วมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ดังนั้น NIA จึงได้ดำเนินโครงการ Space Economy: Lifting Off 2022 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อผลักดันและพัฒนาศักยภาพและผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและเติบโตในอุตสาหกรรมได้ โดยเปิดรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะความพร้อมและเสถียรภาพ TRL 1 – 9 นั่นคือ ตั้งแต่ระดับแนวคิดไปจนถึงระดับที่เทคโนโลยีที่ผ่านการทดลองมีต้นแบบหรือเติบโตแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญและมีความพร้อมในการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) และ Thai Venture Capital Association (TVCA)”
ในปีที่ผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10 ทีม และสามารถต่อยอดธุรกิจได้หลายราย ดังนั้น ในปีนี้จึงเปิดรับจำนวนทีมมากขึ้นเป็น 15 ทีม และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพตั้งแต่ที่มีแนวคิดและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและต้องการสร้างเทคโนโลยีด้านอวกาศไปจนถึงผู้ที่มีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานหรือมีการทำธุรกิจแล้ว เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐที่ผลักดันเทคโนโลยีอวกาศ และต่อยอดทางธุรกิจได้เพิ่มขึ้น โดยผู้ที่ผ่านเข้าโครงการจะได้รับคำแนะนำในเชิงลึกแบบทีมต่อทีมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงมีโอกาสทำงานและรับโจทย์จากหน่วยงานพันธมิตร นอกจากนั้น ยังมีโอกาสได้เชื่อมต่อกับนักลงทุนและภาคธุรกิจที่สนใจจะนำเทคโนโลยีอวกาศไปประยุกต์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ร่วมกัน
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า การผลักดันเร่งสร้างการเติบโตด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศของโลกที่มีมูลค่าสูง รวมถึงมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นไม่ใช่เฉพาะในด้านการสร้างยานอวกาศ หรือดาวเทียมเท่านั้น แต่เทคโนโลยีอวกาศมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในวงกว้าง ซึ่งเทคโนโลยีในด้านนี้ถือว่ายังไม่เพียงพอและยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจที่จะเติบโตและก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ โครงการจะเปิดรับตั้งแต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยยานอวกาศ (upstream) และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากอวกาศ (downstream) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การทำการวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับในอวกาศ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง วัสดุขั้นสูง (advanced material) ฯลฯ ที่สามารถใช้ได้ทั้งในอวกาศและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น สำหรับผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ http://spaceeconomy.nia.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณวัลยา วิศาลบรรณวิทย์ (แนน) โทรศัพท์: 02-017 5555 ต่อ 407 มือถือ : 085-911-4691 หรืออีเมล : wallaya.w@nia.or.th