รีเซต

เช็กที่นี่! 'ขั้นตอน-เอกสาร' แรงงานไทยจากอิสราเอล ยื่นคำร้องรับเงิน 50,000 บาท

เช็กที่นี่! 'ขั้นตอน-เอกสาร' แรงงานไทยจากอิสราเอล ยื่นคำร้องรับเงิน 50,000 บาท
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2566 ( 15:23 )
38

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ขั้นตอน - เอกสารหลักฐาน แรงงานไทยกลับจากอิสราเอล ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา 50,000 บาท เช็กเลยที่นี่


นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย แรงงานไทยกลุ่มที่ 1.เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 2.เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566  โดยใช้วีซ่า Re-entry แต่ไม่สามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทาง สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ด้วยตนเองได้แล้วที่กระทรวงแรงงาน ดินแดง หรือ สำนักงานแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ


นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 อนุมัติให้กระทรวงแรงงานดำเนินโครงการเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ของแรงงานไทย จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง 


โดยมีแรงงานที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 


กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 


กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล 


กลุ่มที่ 3 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้ Re-Entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล 


กลุ่มที่ 4 ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน นั้น


ขณะนี้ แรงงานไทยที่มีสิทธิดังกล่าว สามารถยื่นเอกสารคำร้อง ได้แล้วที่กระทรวงแรงงาน เขตดินแดง หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด โดยเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้นต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกรณีเสียชีวิตให้ทายาทผู้มีสิทธิเป็นผู้ยื่นคำร้อง



แรงงานที่เดินทางกลับไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ให้เตรียมเอกสาร ได้แก่ 


1) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 


2) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนา หน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทย หรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย 


3) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอน ผ่านระบบ KTB Corporate Online 


4) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของแรงงาน



แรงงานกลุ่มที่เดินทางกลับไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้ Re-Entry Visa ให้เตรียมเอกสาร ได้แก่ 


1) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 


2) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทย (ไม่เกิน 90 วัน) 


3) Re-entry Visa (อายุไม่เกิน 90 วัน) 


4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 


5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของแรงงาน



หากเป็นแรงงานไทยที่เสียชีวิตให้ทายาทผู้มีสิทธิเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยใช้เอกสารดังนี้ 


1) สำเนาใบมรณบัตร 


2) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต


3) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว 


4) หนังสือให้ความยินยอมเป็น ทายาทโดยธรรม 


5) บัตรประชาชนทายาท 


6) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส) 


7) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร) 


8) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 


9) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยา 


โดยสำเนาเอกสารทุกฉบับต้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว 


นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานจะมีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน โดยจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิหรือทายาทผู้มีสิทธิ (กรณีเสียชีวิต) ภายใน 7 – 10 วัน โดยระหว่างนั้นผู้ยื่นคำร้องสามารถตรวจสอบสถานะคำร้องได้โดยการสแกน QR CODE ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้อง ทั้งนี้ ประมาณการว่าจะมีแรงงานไทยจะได้รับสิทธิ จำนวน 15,000 คน ๆ ละ 50,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 750 ล้านบาท





ที่มา กระทรวงแรงงาน

ภาพจาก TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง