รีเซต

ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟโหดหน้าร้อน ลดค่าเอฟที 22 สต.ไม่เพียงพอ วอนเยียวยาเพิ่ม

ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟโหดหน้าร้อน ลดค่าเอฟที 22 สต.ไม่เพียงพอ วอนเยียวยาเพิ่ม
มติชน
17 เมษายน 2565 ( 06:36 )
37
ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟโหดหน้าร้อน ลดค่าเอฟที 22 สต.ไม่เพียงพอ วอนเยียวยาเพิ่ม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน ว่า ขณะนี้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกด้าน รวมทั้งต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน วัตถุดิบต่างๆขึ้นราคา ส่งผลให้ราคาสินค้าขึ้นตาม ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 จึงเพิ่มเป็น 5.73% สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

 

ล่าสุดยังเตรียมได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 อีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่เดือนเมษายนของทุกปีจะมีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวที่สุด เป็นเดือนที่มีโอกาสเกิดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี(พีก) จากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ เพื่อสร้างความเย็น เมื่อทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าปริมาณมากจะกระทบรายจ่ายของประชาชนและผู้ผลิตให้สูงตามไปด้วย ดังนั้นอยากให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยารายจ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนสุดของปี จึงมีโอกาสเกิดพีก ระดับ 3 หมื่นเมกะวัตต์ขึ้นไป จากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยประมาณ 5 หมื่นเมกะวัตต์ ส่วนช่วงเวลาอื่นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยจะอยู่ระดับ 2 หมื่นเมกะวัตต์ จะเห็นว่าการใช้ไฟสูงมาก รายจ่ายก็สูงมากเช่นกัน ล่าสุดแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาค่าไฟ เป็น 1 ใน 10 มาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชน คือ การลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่าเอฟที ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย รวม 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 แต่จำนวนหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวหากเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อนต่อเนื่องรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้ามากกว่า 300 หน่วยแน่นอน

 

“จากการประเมินมาตรการรัฐไม่เพียงพอแน่นอน จึงอยากให้พิจารณาเพิ่มเติม ดูแลประชาชนให้พ้นฤดูร้อนไปก่อน เพราะปลายเดือนพฤษภาคม จะเข้าฤดูฝนแล้ว”นายเกรียงไกรกล่าว

 

อย่างไรก็ตามนอกจากมาตรการเยียวยาประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม อีกด้านหนึ่งคือมาตรการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยควรมีแคมเปญกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานเป็นหลัก และผลดีจากการประหยัดพลังงาน ซึ่งมาตรการเยียวยาประชาชนและมาตรการประหยัดพลังงานต้องเดินหน้าควบคู่กัน

 

นอกจากนี้ผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า อีกผลกระทบที่สำคัญคือ ราคาน้ำมัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งออกมาประกาศว่าจะปรับราคาค่าขนส่งขึ้นอีก 15-20% แน่นอนว่าหากปรับขึ้นจริง จะกระทบราคาสินค้าที่ทุกวันนี้ขยับขึ้นแล้วให้เพิ่มขึ้นไปอีก รัฐบาลต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้โดยด่วน สถานการณ์ขณะนี้จึงน่ากังวล แต่ก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงานทั้งค่าไฟและน้ำมัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง