รีเซต

'อลงกรณ์'นำทีมประชุมส่งเสริมสินค้า-ผลิตผลการเกษตร'ฮาลาล'พุ่งเป้า 57ประเทศมุสลิม

'อลงกรณ์'นำทีมประชุมส่งเสริมสินค้า-ผลิตผลการเกษตร'ฮาลาล'พุ่งเป้า 57ประเทศมุสลิม
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 12:17 )
65

พุ่งเป้าตลาดใหญ่57ประเทศมุสลิม1,960ล้านคน’อลงกรณ์’นำประชุมคณะทำงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน’ฮาลาล’นัดแรกคึกคัก

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน”ฮาลาล” โดยรวบรวมตัวแทนทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องด้านการผลิต-การแปรรูป-โลจีสติก-การส่งออก สินค้าฮาลาล ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน อาทิ ตัวแทนจากกรมต่างๆจากกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร ศอบต. สภาพัฒน์ฯ กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมฯ กระทรวงการต่างประเทศ บีโอไอ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์กรมหาชน) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมการค้านักธุรกิจการค้าไทยมุสลิม หอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจีสติกส์ไทย ได้ประชุมคณะทำงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา

 

นายอลงกรณ์ ประธานที่ประชุมได้นำเสนอวิสัยทัศน์ Muslim Economy และ Halal Economy ว่า “อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองก็แค่จีน เป็นอันดับ 12 ของโลก แต่เรายังส่งออกอาหาร”ฮาลาล” ยังน้อยมาก ในขณะที่ตลาดมุสลิมเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก หากเราสามารถส่งเสริมทั้งด้านการวิจัย การรับรองมาตรฐานการผลิต การลงทุน การเปิดตลาดส่งออกและโลจีสติก จะเป็นความหวังที่สำคัญของไทย นอกจากนั้น”ฮาลาล” มิใช่แค่อาหาร ยังรวมไปถึง คลัสเตอร์อื่นๆ เช่นการผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และ บริการ ”

 

ทางสมาคมการค้าและนักธุรกิจมุสลิมได้นำเสนอที่ประชุมถึง ขนาดของ Global Halal Economy ว่ามีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง “ยกตัวอย่าง ด้านอาหารฮาลาล เติบโตจาก 1,245 ล้านดอลล่าส์ในปี ค.ศ.2016 และคาดการณ์ เป็น 1,930 ล้านดอลล่าส์ ในปี ค.ศ.2022 ขนาดของตลาดมุสลิม คาดการณ์ว่าจะโตจาก มูลค่า 2,006 ล้าน ยูเอสดอลล่าส์ในปี ค.ศ.2016 เป็น 3,081 ล้านยูเอสดอลล่าส์ ในปี ค.ศ. 2022 ด้วยอัตราการเติบโต 7.33% หากพิจารณาการกระจายตัวของประชากรมุสลิมจากทั้งหมด 1960 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 จะอยู่ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก 61.7% กลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 19.8% อเมริกาใต้ 15.5% ยุโรป 2.7 % อเมริกาเหนือและใต้ รวม 0.3%

 

ที่ประชุมได้วิเคราะห์โอกาสในการเปิดตลาด โดยเจาะจงประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำเข้าสำคัญที่น่าสนใจ โดยไล่เรียงจากกลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council(GCC)Countries มีประชากรมุสลิม 54 ล้าน ได้แก่ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ก่อนขยายไปยังประเทศอื่น ภูมิภาคเอเชียกลางซึ่งมีประชากร 100 ล้านคนนั้นมีประเทศ อุซเบกิสถานเป็นประเทศแรกเพื่อเชื่อมโยงไปยังระเทศอื่นๆ อีก 5 ชาติ ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน มีประชากรมุสลิม 240 ล้านคนนั้นเป็นตลาดที่สำคัญทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย

 

นอกจากการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานเพื่อวิเคราะห์โอกาสในการเปิดตลาด แล้วที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์การทำงานและการกำหนดโครงสร้างการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จำเป็นได้แก่คณะกำหนดนโยบาย คณะส่งเสริมการลงทุน และคณะส่งเสริมการค้า เป็นต้น

 

นายอลงกรณ์กล่าวว่า”เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เราจะจัดประชุมทุกสัปดาห์ และหากท่านใดมีข้อเสนอแนะก็สามารถดำเนินการขับเคลื่อนและดำเนินการได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอการประชุม”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง