'อลงกรณ์' เผยส่งออกผลไม้ไทย ไปตลาดจีนเริ่มแล้ว ขนุน-ลำไย-ทุเรียน-มะพร้าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ (เฉพาะกิจ) เปิดเผยว่า การขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ และมะพร้าวจำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ จาก จ.ระยอง ในภาคตะวันออกไปยังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อตรวจ ละออกใบรับรองตรวจโรคพืชไฟโต ที่ด่านหนองคาย ตามพิธีสารผลไม้ไทย-จีน
จากนั้นขบวนรถไฟจะขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่าบกท่านาแล้ง ก่อนยกขึ้นหัวลากจากท่านาแล้ง 2.9 กม. ไปขึ้นรถไฟลาว-จีน ที่สถานีเวียงจันทน์ ก่อนขนส่งไปสถานีรถไฟนาเตย แล้วยกขึ้นรถหัวลากเดินทางไปด่านบ่อเตนของลาว ข้ามพรมแดนลาว-จีน ไปตรวจปล่อย ที่ด่านโมฮ่าน ในมณฑลยูนนานของจีน เป็นระบบการขนส่งหลายรูปแบบ Multi Modal Transportation ที่เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณี ที่ยังไม่สามารถขนส่งผลไม้ทางรถไฟ จากลาวข้ามแดนไปด่านรถไฟโมฮ่านโดยตรง เนื่องจากจีนกำลังก่อสร้างอาคาร และลานตรวจโรคพืช ที่ด่านรถไฟโมฮ่าน จึงต้องไปใช้การตรวจโรคพืช ที่ด่านโมฮ่าน ซึ่งเป็นด่านใหญ่ด่านเดิมไปพรางก่อน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการส่งออกขนุนจากภาคใต้ ต่อด้วยผลไม้ เช่น ลำไยจากภาคเหนือ หลังจากเริ่มการขนส่งผลไม้จากภาคตะวันออก โดยหวังว่าจะผ่านไปด้วยดีโดยตนจะติดตามทุกขั้นตอนจนกว่าทุเรียนและมะพร้าวจะถึงกวางโจว
“ท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้มอบนโยบายในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ หรือฟรุ้ทบอร์ด ให้ผมประชุมทางไกลกับผู้ประกอบการจีน-ไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการทดสอบทดลองใช้ระบบขนส่งผสมผสานทางรางทางรถ จะดูทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน และปัญหาข้อขัดข้อง ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยมีบริษัท ผู้ส่งออกผลไม้ และบริษัท ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ระบบ Cold Chain ได้รับอนุญาตให้ร่วมในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งมีหลายบริษัทที่ทางการจีนได้อนุมัติให้ดำเนินการทดสอบทดลอง ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวง GACC และทางการยูนนาน สถาบันโลจิสติกส์คุนหมิง และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ตลอดจนภาคเอกชนของ 3 ประเทศ และฟรุ้ทบอร์ด ที่ร่วมมือกันส่งเสริมการค้าการส่งออกทุเรียนมะพร้าว และผลไม้อื่นๆ ภายใต้พิธีสารแม้จะมีปัญหาอุปสรรคนานัปการ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ลาว-จีน” นายอลงกรณ์ กล่าว