รีเซต

อลงกรณ์ ลุยภาคเหนือ ตั้ง 'บอร์ดลำไย' เร่งปฏิรูปผลไม้ไทย สู่เกษตรมูลค่าสูง

อลงกรณ์ ลุยภาคเหนือ ตั้ง 'บอร์ดลำไย' เร่งปฏิรูปผลไม้ไทย สู่เกษตรมูลค่าสูง
มติชน
13 มกราคม 2565 ( 13:57 )
45

เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปี2565 “อลงกรณ์” ลุยภาคเหนือ ตั้งบอร์ดลำไยผนึกเกษตรกร-เอกชนเดินหน้าโครงการประกันราคาลำไยรูปแบบใหม่พร้อมมอบศูนย์ AIC เชียงใหม่และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือพัฒนาเพิ่มมูลค่าครบวงจร ปักหมุดลำพูนเมืองหลวงลำไย เร่งปฏิรูปผลไม้ไทยเชื่อมแผน 13 ขับเคลื่อนสู่ “เกษตรมูลค่าสูง”

 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดลำพูน เพื่อติดตามงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้บริหาร ข้าราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องต้อนรับ

 

นายอลงกรณ์ ยังเป็นประธานการประชุมภาคีเครือข่ายเกษตรกรภาครัฐและเอกชน เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูและประชุมทางไกลตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมประชุม เผยรายงานการคาดการณ์แนวโน้มผลผลิตภาคเหนือ ปี 2565 และ รายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ รวมถึงแนวทางบริหารจัดการผลไม้

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้วางแนวทางการจัดการผลไม้ในภาวะวิกฤตโควิด ในโมเดล 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย เพื่อ พลิกโฉมภาคเกษตรไทย เน้นการทำเกษตรมูลค่าสูง ให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรมูลค่าสูง เน้นการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมอบศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ภาคเหนือและอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เร่งวิจัยพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้

 

“ลำพูนเป็นศูนย์กลางลำไยภาคเหนือ และเมืองหลวงลำไยโลก มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 250,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ 8 จังหวัด โดยมี ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,200,804 ตัน ในปี 2560 เป็น 1,437,740 ตัน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ต่อปี และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 827 กิโลกรัมในปี 2560 เป็น 869 กิโลกรัม ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.004 ต่อปี เป็นผลจากการสนับสนุนจากรัฐบาล”

 

“อย่างไรก็ตาม ราคาลำไยที่ตกต่ำในบางฤดู เป็นปัญหาซ้ำซากตลอด จึงได้มีโครงการประกันราคาลำไยขั้นต่ำ บนความร่วมมือเกษตรและเอกชน ในแบบวิน-วิน ทุกฝ่าย เช่นที่ทำกับอุตสาหกรรมกุ้ง โดยบอร์ดกุ้ง โดยมีการประชุมทุก 2 สัปดาห์ กระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมรองรับการผลิตลำไยออกสู่ตลาดล่วงหน้า ตามแนวการบริหารจัดการผลผลิตลำไยปี 2565 อาทิ

 

โครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต เพื่อเตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและราคาผลผลิตตกต่ำ เป้าหมาย การสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิต การรับซื้อในราคานำตลาดตลอดจนแนวทางการบริการจัดการ ตั้งแต่ต้นทาง คือ เน้นตลาดนำการผลิต การลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเพิ่มผลิตภาพการผลิต การทำลำไยนอกฤดูการสร้างมูลค่าเพิ่ม การซื้อขายล่วงหน้าระบบ Pre-order

 

พร้อมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ออฟไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ การสร้างระบบ Traceability และ QR code เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้า ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด

 

ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวสำคัญให้ภาคเกษตรไทยก้าวสู่มิติใหม่ โดยใช้โมเดล Fair Trade ลำไย การค้าที่เป็นธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ร้านค้า โรงงานแปรรูป ล้ง และผู้ส่งออก”

 

นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)ได้แต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มสินค้าลำไย (ลำไยบอร์ด) เพื่อดูแลลำไยเป็นการเฉพาะอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง