ออมสินพร้อมโอนหนี้เสียเข้า ARI-AMC ล็อตแรก3หมื่นล.

ออมสินพร้อมโอนหนี้เสียเข้า ARI-AMC ล็อตแรก 1.4 แสนบัญชี มูลหนี้ 3 หมื่นล้าน จากนั้นจะทยอยให้ครบ 4-5 แสนบัญชีภายในต้นปีหน้า คาดทำกำไรจากการบริหารจัดการหนี้ร่วมกับBAM ไม่เกิน 10%
#ทันหุ้น นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์อารีย์(ARI-AMC)ว่า ขณะนี้ การจัดตั้ง ARI-AMC ที่ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์(BAM) ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว คาดว่า ภายในเดือนนี้ ธนาคารจะสามารถโอนทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ ARI-AMC บริหารจัดการได้
เขากล่าวว่า ทรัพย์ด้อยคุณภาพล็อตแรกที่ธนาคารจะโอนเข้าไปยัง ARI-AMC จะมีจำนวนประมาณ 1.4 แสนบัญชี มูลหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้น จะทยอยโอนให้ครบตามเป้าหมายประมาณ 4-5 แสนบัญชีภายในต้นปีหน้า โดยสาเหตุที่ธนาคารต้องทยอยโอนทรัพย์ เพราะหนี้ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อย จำเป็นต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ
“เราจะโอนหนี้รายย่อยด้อยคุณภาพที่มีมูลหนี้เฉลี่ย 5-7 หมื่นบาทต่อรายเข้าไปให้ ARI-AMCบริหารและอาจจะมี SMEsที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาทที่จะโอนเข้าไปด้วยบางส่วน ดังนั้น จำนวนรายที่จะโอนเข้าไปจึงมีจำนวนมาก ทำให้ ARI-AMC ต้องทยอยบริหารจัดการ”
เขากล่าวว่า เมื่อทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวถูกโอนไปยัง ARI-AMC ทาง ARI-AMC จะเริ่มติดต่อไปยังลูกหนี้ เพื่อให้เข้ามาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะต้องปรับลดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของ ARI-AMC จะจึงไม่มีผลกำไรมากนัก แต่ยืนยันว่า จะมีผลกำไรแน่นอน
“ARI-AMC จะมีผลกำไรแต่จะไม่เยอะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่า จะช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเราประเมินผลกำไรไว้ที่ไม่เกิน 10%”
สำหรับ ARI-AMC จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนระหว่างออมสินกับBAMที่ 50% มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ
ในระยะแรก ARI-AMC จะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน ซึ่งเป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาทครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย และมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้