รีเซต

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU ภาคี Thai Media Lab 16 องค์กร เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU ภาคี Thai Media Lab 16 องค์กร เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2567 ( 15:56 )
32
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU ภาคี Thai Media Lab 16 องค์กร เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ


วานนี้ (26 มีนาคม 2567) รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภาคีเครือข่าย Thai Media Lab เพื่อการพัฒนาทักษะกำลังคนและนวัตกรรมสื่อ กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีสถาบันการศึกษาอีก 12 มหาวิทยาลัย เพื่อขยายเครือข่ายงานด้านวิชาการ เพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมสื่อเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อให้แข็งแรงเพื่อตอบโจทย์แรงงานในอนาคตต่อไป


“คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับก้าวสำคัญในการขยายภาคีความร่วมมือที่มีความตั้งใจเดียวกันในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ดีขึ้น จะสามารถขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม และเราหวังว่าจะมีการขยายภาคีความร่วมมือกับวิชาชีพที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยกัน เครือข่าย Thai Media Lab พร้อมจะทำงานร่วมกันในรูปแบบ Co-creation ระหว่างวิชาการ วิชาชีพ ทำวิจัยพัฒนาสิ่งที่อุตสาหกรรมสื่อต้องการ โจทย์วิจัยที่จะไม่ขึ้นหิ้ง และ การวิจัยที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมสื่อเพื่อให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” รศ.ดร. ปรีดา กล่าว


ด้าน ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ในฐานะภาคีสำคัญได้กล่าวว่า ทาง บพค. มีความยินดีในการร่วมมือกันขับเคลื่อนพัฒนาสื่อในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกันของภาคีนักวิชาการด้านสื่อที่มีความเข้มแข็ง ที่จะช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมสื่อและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพค.พร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับภาคี Thai Media Lab เพื่อพัฒนาทักษะของบุคคลากรด้านสื่อและผู้ผลิตร่วมกัน 

ผศ.ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม โครงการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ ได้กล่าวเสริมว่า Media Lab ไม่ใช่แค่ที่ผลิตสื่อ แต่คือ กลไกการพัฒนาที่ทำได้จริง นักวิจัยได้งานที่ไม่ขึ้นหิ้ง และบอกตัวเองได้ว่าวิจัยเกิดผลงอกเงยจริงได้ วิชาชีพได้สร้างงานใหม่ที่อยากทำ ข้ามเส้นคำว่าเสี่ยง สู่โอกาสใหม่ได้ มีองค์ความรู้ส่งต่อให้คนอื่นเอาไปทำในแบบตัวเองได้ พร้อมเชื่อมั่นว่า Thai Media Lab จะเดินหน้าต่อไปอีกในการสร้าง Co-creating Innovation เพื่ออุตสาหกรรมสื่อ ชุมชน และสังคม 

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่าย Thai Media Lab ทั้ง 16 องค์กร ที่ลงนาม MOU มุ่งพัฒนาทักษะกำลังคนและนวัตกรรมสื่อ ประกอบด้วย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 


ทั้งนี้ โครงการฯ จัดสัมมนา “Thai Media Lab Showcase: The Future of Co-Creating Media Innovation” เพื่อแสดงศักยภาพของการร่วมมือระหว่างวิชาการ-วิชาชีพในรูปแบบของภาคีเครือข่าย Thai Media Lab เพื่อการพัฒนาทักษะกำลังคนและนวัตกรรมสื่อ ภายในงานมีการนำเสนอผลงานการพัฒนาสื่อจาก 6 ทีมที่ร่วมมือกันพัฒนางานระหว่างนักวิจัยและองค์กรที่ร่วมในกระบวนการ Media Lab ได้แก่

  • บริษัท ทูลมอโร จำกัด X ธุรกิจบัณฑิตย์: Interactive Quiz & Interactive Short film ทางเลือกเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ป่าใหญ่ครีเอชั่น X วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. :“ทุ่งแสงตะวันไปมาแล้ว” ปักหมุด  Location-based เล่าเรื่องชุมชน
  • พะเยาทีวี X มรภ.เชียงราย: AI Generate “ตามรอยพระลอ” ปลุกเรื่องเล่าชุมชนด้วยเอไอ
  • มาลีมาเล่า X สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์:  "มาลีมาเล่ากับ Engagement บน TikTok
  • MOJO ชายแดนใต้ X มอ.ปัตตานี: ปักหมุดเล่าเรื่อง ชุมชนริมชายหาดปะนาเระ และการสื่อสาร ภัยพิบัติในชุมชน
  • ฮาร์โมนิส คอนซัลแทนต์ X วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. : ปั้นเกษตรกร “สายเล่า” ถ่ายทอดความรู้ปลูกถั่วลิงสงผ่าน Google My Map

และการถอดบทเรียนจากนักวิจัย Academic Talk ในการทำงานวิชาการด้วยกระบวนการ Media Lab ให้เกิดพื้นที่การพัฒนาที่ทดลอง ล้มเหลว แก้ไข และประสบความสำเร็จให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ผ่านองค์ความรู้จากการวิจัยด้วย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง