รีเซต

สมาพันธ์เอสเอ็มอี พก 4 ข้อเสนอ เตรียมขอพบ "บิ๊กตู่" ช่วยเหลือผ่อนคลายผลกระทบโควิด

สมาพันธ์เอสเอ็มอี พก 4 ข้อเสนอ เตรียมขอพบ "บิ๊กตู่" ช่วยเหลือผ่อนคลายผลกระทบโควิด
มติชน
20 พฤษภาคม 2564 ( 23:30 )
41
สมาพันธ์เอสเอ็มอี พก 4 ข้อเสนอ เตรียมขอพบ "บิ๊กตู่" ช่วยเหลือผ่อนคลายผลกระทบโควิด

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ “มติชน”ว่า สมาพันธ์ฯได้รวบรวมปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อเสนอขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งได้ทำเป็นเอกสารและเตรียมนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเป็นการด่วน หลังจากสมาคมได้ทำการสำรวจสมาชิกของสมาคมที่มีรประมาณ 1 แสนราย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สะท้อนว่ากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก และเป็นความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกในปี 2563 ถึงการระบาดในรอบที่ 3 โดยไม่ชัดเจนว่าจะยืดเยื้อยาวอีกกี่เดือน

 

 

นายแสงชัย กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่จะเสนอรัฐบาล ได้แก่ 1. เสนอโครงการ เอสเอ็มอีไทยชนะ โดยการพักเงินต้น พักดอกเบี้ย เติมทุน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน และเริ่มอย่างช้าในเดือนมิถุนายน 2564 โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุน 50% และ ธนาคารสนับสนุน 50% สำหรับกลุ่มที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) รวมถึงขยายเวลาพักเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเอสเอมอีที่ได้รับเงินกู้แล้ว ถึง 31 ธันวาคม 2564 2. เสนอมาตรการแปลงโอกาสเป็นทุน เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องเร่งด่วยให้กับเอสเอ็มอี โดยให้สามารถนำใบสั่งซื้อสินค้าหรือผลิตไปใช้ค้ำประกันเพื่อการกู้เงินในวงเงิน 30-50% มูลค่าวงเงินตามใบสั่งซื้อ แล้วนำเงินที่ได้รับไปซื้อวัตถุดิบ สินค้า จ้างทำของ จ้างงาน เมื่อส่งมอบสินค้าเสร็จก็ให้ธนาคารจ่ายเงินส่วนที่เหลือ เพื่อลดปัญหาการรับชำระเงินค่าสินค้าตามเครดิตเทอมได้เร็วขึ้น ที่ปกติมักมีเครดิตเทอมจ่ายค่าสินค้าภายใน 30-90 วัน แต่ธนาคารอาจใช้เวลาพิจารณาเพีบง 1-3 วัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้เงินสดเร็วขึ้นเพื่อให้เพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจดีขึ้น 3. ขอให้สนับสนุนกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี ที่มีตัวแทนภาครัฐและเอกชนเข้าบริหารจัดการ 4. เสนอให้รัฐเลิกหรือปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกฎระเบียบในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ เช่น มีโครงการพักทรัพย์ หรือ แฮร์คัตหนี้ แล้วนำมาขายทอดตลาดนั้น ควรปรับการตีราคา โดยยึดเต็มตามมูลค่า ไม่ใช่เป็นการคิดจากส่วนต่างที่เป็นหนี้ที่มักตีมูลค่าต่ำ แต่เมื่อนำไปขายมักเสนอขายได้สูงกว่ามูลค่าที่ตี หากคิดเต็มมูลค่าขายทอดก็จะยังเหลือเงินทอนให้ลูกค้าเพื่อเป็นทุนสร้างอาชีพใหม่ต่อไป เป็นต้น

 

 

” กลุ่มเอสเอ็มอีบ่นมาตลอด ถูกเมินแม้เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงของประเทศ ได้มีการร้องขอและนำเสนอแนวทางขอให้รัฐบาลดูแลมาตั้งแต่เกิดการระบาด 2 รอบปีก่อน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบหนักแล้ว แต่การระบาดรอบ 3 กระทบหนักขึ้นมาก จากตัวเลขสถาบันธนาคารออกมาระบุแล้วว่า ผู้ประกอบการที่เริ่มขาดส่งชำระหนี้ 1 งวดแต่ไม่เกิน 3 งวด มีถึง 4.4 แสนล้านบาท เรามองว่าเป็นเอสเอ็มอีกลุ่มเหลือง ที่อาจแบกรับภาระไม่ไหวจากที่รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือ ไม่อาจเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ หรือ แบกรับหนี้สินสูง ขาดรายได้ต่อเนื่องจากโควิด ก็เสี่ยงที่กลุ่มเหลืองจะกลายเป็นกลุ่มแดง หรือกลุ่มเอ็นพีแอลที่ปัจจุบันมีถึง 2.4 แสนล้านบาท โดยกำลังติดตามจีดีพีเอสเอ็มอีต่อจีดีพีรวมประเทศจะเหลือเท่าไหร่จากปี 2562 อยู่ที่สัดส่วน 35% ที่ครอบคลุมจ้างงาน 12 ล้านคน และ ธุรกิจ 3.1 ล้านราย แต่ปี 2563 ยังไม่ออกมา แนวโน้มอาจลดลงเพราะปี 2563 เจอวิกฤตโควิดหนัก และปี 2564 อาจต่ำลงอีก หากเป็นอย่างนั้นจะเป็นระเบิดเวลาต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ”

 

 

นายแสงชัย กล่าวว่า ที่ออกมาร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลืออีกครั้งผ่าน 4 เรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่ารัฐบาลเตรียมกู้เงินเพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท หลังจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่พบว่าเงินและมาตรการที่รัฐออกมาก่อนหน้านี้ เอสเอ็มอีกว่า 50% เข้าไม่ถึงตั้งแต่รอบแรก ยิ่งเกิดการระบาดรอบ 2 และ 3 สัดส่วนก็จะเพิ่มขึ้น ก็อยากขอให้รัฐเร่งเข้าช่วยเหลือจากงบกู้ที่เพิ่มเติมขึ้น ซึ่งมาตรการเสนอยังเป็นการเพื่อการพยุงธุรกิจที่เป็นสีเหลืองหรือเจอวิกฤตการเงิน เริ่มประสบปัญหา ไม่กลายเป็นกลุ่มแดง จนต้องปิดกิจการ ส่วนที่ต้องช่วยเหลืออีกคือกลุ่มแดงจะช่วยฟื้นฟูอย่างไร ให้เขาสามารถกับมาสร้างมีอาชีพมีรายได้ใหม่ เป็นการลดปัญหาความถดถอยของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 


” ธุรกิจยังมองว่า 2 เดือนจากนี้ มิถุนายน-กรกฎาคม ก็ยังต้องติดตามเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด และ การเร่งฉีดวัคซีนของรัฐบาลจะได้ตามแผนที่กำหนดแค่ไหน หากทุกอย่างจบได้ใน 2 เดือน ก็ดีต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศ ในปลายไตรมาส3และไตรมาส4 แต่เป็นกำลังซื้อที่อั้น ระยะยาวอาจแผ่วลง ก็จะกดดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 2% ซึ่งก็ขึ้นอยู่เงินกู้ที่รัฐเพิ่มเติมจะนำมาใช้ได้ตอบโจทย์แค่ไหน เพราะ 1 ล้านล้านบาท ดูเหมือนยังไม่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีเท่าที่ควร “นายแสงชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง