“เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” พิมพ์บ้านยุคใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย โดยช่วยรลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ที่กำลังกลายเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันชาวอเมริกันต้องเผชิญกับต้นทุนค่าเช่า และราคาซื้อบ้านที่พุ่งสูงขึ้น บริษัทต่าง ๆ และรัฐบาลจึงหันมาใช้วิธีการใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และการสร้างบ้านแบบชิ้นส่วนโมดูลาร์ เพื่อช่วยลดต้นทุน ตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในประเทศ
หนึ่งในบริษัทที่หาวิธีแก้ปัญหานี้ ก็คือ เฟดดิง เวสต์ (Fading West) จากรัฐโคโลราโด ที่ตั้งเป้าจะลดต้นทุน และระยะเวลาก่อสร้างให้น้อยลง ด้วยการพัฒนาบ้านแบบโมดูลาร์ หรือบ้านแบบแยกส่วน ที่จะสร้างและประกอบขึ้นภายในโกดังขนาดใหญ่ โดยใช้เทคนิคที่ยืมมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์
การก่อสร้างบ้านในอาคารแบบนี้ มีข้อดีหลายประการ เมื่อเทียบกับวิธีการก่อสร้างบ้านแบบดั้งเดิม เช่น โครงสร้างบ้านสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ลดขยะในการก่อสร้าง และยังสามารถสร้างบ้านได้ตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับวิธีเดิมที่อาจจะเจอปัญหาสภาพอากาศ ทำให้โครงการก่อสร้างล่าช้า
โดยบริษัทได้ผลิตบ้านออกมาแล้วกว่า 500 หลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใช้เวลาก่อสร้างแต่ละหลังประมาณ 5-7 วันเท่านั้น และเมื่อประกอบโครงสร้างบ้านเสร็จประมาณร้อยละ 90 ก็จะส่งไปยังจุดติดตั้งสุดท้าย เพื่อรอคนย้ายเข้า
นอกจากการสร้างบ้านแบบนี้ ยังมีบริษัทที่เลือกใช้วิธีการสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ ควบคุมแขนหุ่นยนต์ ซึ่งติดตั้งท่อในการฉีดให้คอนกรีตไหลออกมาเป็นเส้น ก่อผนังบ้านขึ้นทีละชั้น โดยแขนกลจะสามารถเคลื่อนที่ได้ค่อนข้างเร็ว และสร้างผนังแบบโค้งได้ด้วย
ทั้งบ้านแบบโมดูลาร์ บ้านสำเร็จรูป และบ้านที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ ยังคงเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของนวัตกรรมการก่อสร้างยุคใหม่ แต่เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมาช่วยอุดช่องว่างของปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย และยังช่วยให้ผู้พัฒนามีทางเลือกใหม่ ๆ แทนการก่อสร้างแบบเดิมมากขึ้น
ข้อมูลจาก