เรือบรรทุกเครื่องบินไฮเทคจีนเสร็จปลายปี พญาอินทรีทั้งทึ่งทั้งผวา
เรือบรรทุกเครื่องบินไฮเทคจีนเสร็จปลายปี - วันที่ 17 ก.ย. เดลีเมล์รายงานว่า ทางการสหรัฐอเมริกาจับตาใกล้ชิดหลังภายถ่ายดาวเทียมบริเวณเขตอุตสาหกรรมต่อเรือมณฑลเจียงหนาน ประเทศจีน เผยให้เห็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของกองทัพจีน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังทางการจีนกำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาค โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้ที่เป็นน่านน้ำพิพาทกับชาติอาเซียนหลายชาติ โดยพบความเคลื่อนไหวของกองกำลังปลดปล่อยประชาชนชาวจีน หรือพีแอลเอ บริเวณนี้อาจส่งผลคุกคามต่อกองทัพสหรัฐฯ
เรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดดังกล่าวเรียกว่า ไทป์ 003 ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นปลายปีนี้ และจะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนผลิตขึ้นเอง รวมกับรุ่นเก่าที่ซื้อต่อมาปรับปรุงใหม่จากรัสเซียเป็นทั้งหมด 3 ลำ ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ นั้นมีเรือรุ่นดังกล่าว 12 ลำ กระจายอยู่ทั่วโลก (ระหว่างปฏิบัติภารกิจ 11 ลำ เทียบท่า 1 ลำ)
ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมบ่งชี้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน ไทป์ 003 ลำแรกของจีน มีความยาวทั้งสิ้น 351 เมตร ขณะที่สำนักข่าวท้องถิ่นของจีน ระบุว่า จะได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีคาตาพัลต์แบบใหม่ที่เป็นแบบแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถส่งเครื่องบินขับไล่ขนาดใหญ่ และเครื่องโดรนได้
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ หรือซีเอสไอเอส กรุงวอชิงตัน ที่เป็นผู้นำภาพถ่ายดาวเทียมมาเปิดเผย ระบุว่า เป็นภาพแรกที่เผยให้เห็นชิ้นส่วน 7 ชิ้น เรียงต่อกันตั้งแต่หัวถึงท้ายเรือ โดยส่วนลำตัวเรือนั้นยาว 296.8 เมตร กว้าง 39.6 เมตร (ระดับแนวน้ำ)
เทียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง ยูเอสเอส จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่มีความยาว 335.8 และกว้าง 40.8 เมตร เพิ่งเข้าประจำการเมื่อปี 2562
ด้านความคืบหน้าการต่อเรือลำดังกล่าว คาดว่า อยู่ระหว่างประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ก่อนจะนำดาดฟ้า และศูนย์บัญชาการมาประกบ เพิ่มความยาวของเรืออีกประมาณ 18.2 เมตร
โกลบอลไทมส์ สื่อกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานว่า การต่อเรือบรรทุกเครื่องบินไทป์ 003 เดินหน้าไปอย่างราบรื่น โดยเรือจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ที่กองทัพเรือจีนใช้อยู่ และอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รวมถึงคาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้า
สร้างความฮือฮาให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางทหารเนื่องจากระบบคาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่งถูกประดิษฐ์และนำมาใช้จริงในเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่ เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด-คลาส ที่จะมาแทนเรือบรรทุกเครื่องบิน นิมิตซ์-คลาส ของกองทัพสหรัฐ โดยทั้งคู่ใช้พลังงานจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
หนึ่งในข้อได้เปรียบของระบบคาตาพัลต์แบบพลังแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นความนุ่มนวลในการเคลื่อนที่ ส่งผลให้แรงต้านที่เกิดต่ออากาศยานลดลง ทำให้สามารถส่งเครื่องบินได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น รวมทั้งโดรนขนาดใหญ่ด้วย
นายแมทธิว ฟูไนโอลเล นักวิจัยแสนยานุภาพจีน จากซีเอสไอเอส กล่าวว่า การพัฒนาของจีนนั้นรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กระบวนการพัฒนาที่นำจีนมาอยู่ในแนวหน้าของเทคโนโลยีเรือบรรทุกเครื่องบินได้นั้นน่าประทับใจมาก นอกจากนี้ จีนยังแสดงให้โลกได้ประจักษ์ถึงขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตเรือรบใช้เอง
รายงานระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนมีอยู่นั้นชื่อรุ่นว่า ไทป์ 001-คลาส มีขนาดเล็กกว่า และสามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้เพียง 25 ลำ ใช้ระบบส่งเครื่องเป็นคาตาพัลต์รุ่นเก่า ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐนั้นบรรทุกเครื่องบินได้มากกว่าเกือบ 4 เท่า
เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก "เหลียวหนิง" เป็นเรือที่ทางการจีนซื้อมือสองมาจากกองทัพรัสเซียในปี 2541 นำมาปรับปรุงใหม่ ลำต่อมาทางวิศวกรของจีนนำไทป์ 001-คลาสมาศึกษาและลองสร้างเองเรียกว่า ไทป์ 001เอ-คลาส เข้าประจำการเมื่อปี 2560 แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อรหัสเรียกขาน
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง มองว่า กองทัพเรือจีนน่าจะใช้ ไทป์ 001 เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินสำหรับฝึกหัดในการบรรลุเป้าหมายมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 6 ลำ ภายในปี 2573
ทั้งนี้ การต่อเรือและการใช้เรือบรรทุกเครื่องบินในยุทธการนั้นถือเป็นสิ่งที่ยาก โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดของเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นเป็นกองเรือคุ้มกัน ทั้งเรือประจัญบาน เรือตรวจการณ์ เรือเสบียง และเรือดำน้ำล้วนเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของกองเรือดังกล่าว