รีเซต

วิจัยเผย สัตว์สุดอันตรายแห่งแอฟริกา น่ากลัวกว่าสิงโตเสียอีก

วิจัยเผย สัตว์สุดอันตรายแห่งแอฟริกา น่ากลัวกว่าสิงโตเสียอีก
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2567 ( 11:08 )
10
วิจัยเผย สัตว์สุดอันตรายแห่งแอฟริกา น่ากลัวกว่าสิงโตเสียอีก

รู้หรือไม่ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทุ่งหญ้าสะวันนา ทวีปแอฟริกา กลัวสัตว์อันตรายชนิดไหนมากที่สุด เกริ่นมาแบบนี้ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นสิงโต เนื่องจากเป็นนักล่าที่ทรงพลัง ทั้งยังออกล่าเป็นฝูงอีกด้วยแต่นักวิจัยได้ทำการศึกษา และพบว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทุ่งหญ้าสะวันนากลัวมากกว่าสิงโต ทั้งที่ไม่ได้มีขนาดตัวที่ใหญ่ หรือลักษณะทางกายภาพแข็งแกร่งที่สุดด้วยซ้ำ สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้ก็คือมนุษย์นั่นเอง


โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ประเทศแคนาดา ได้ทำการศึกษาในปี 2023 เกี่ยวกับปฏิกริยาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อได้ยินเสียงนักล่า โดยการเปิดเสียงให้กับสัตว์หลากหลายสปีชีส์ฟัง เช่น แรด ช้าง ยีราฟ เสือดาว ไฮยีนา ม้าลาย และหมูป่า ที่มาดื่มน้ำที่แหล่งน้ำแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติเกรทครูเกอร์ ประเทศแอฟริกาใต้ จากนั้นสังเกตการตอบสนอง โดยมีการบันทึกปฏิกริยาการตอบสนองมากกว่า 10,000 ครั้ง และมีการเปิดเสียงที่หลากหลาย เช่น เสียงสิงโต เสียงสุนัขเห่า เสียงปืน และเสียงพูดคุยของมนุษย์


นักวิจัยทดลองโดยการเปิดเสียงสิงโต พบว่าสัตว์จำนวนมากวิ่งหนีเมื่อได้ยินเสียง แต่ไม่ทั้งหมด เช่น มีเหตุการณ์หนึ่งที่เมื่อช้างได้ยินเสียงสิงโต ก็วิ่งเข้ามาทำร้ายอุปกรณ์เปิดเสียง ซึ่งแสดงว่ามันไม่ได้หวาดกลัวสิงโตเท่าไหร่นัก 


สัตว์ที่มาดื่มน้ำที่แหล่งน้ำดังกล่าวนี้ มีทั้งสปีชีส์ที่เป็นเหยื่อและเป็นผู้ล่า แต่สัตว์เหล่านี้ประมาณร้อยละ 95 ของการบันทึกปฏิกริยาทั้งหมด จะวิ่งหนีจากแหล่งน้ำไปอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียงของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นพูดด้วยภาษาใดก็ตาม ซึ่งจำนวนการวิ่งหนีอุตลุดนี้มีมากกว่าสิงโต และเสียงอื่น ๆ


ไมเคิล คลินชี่ (Michael Clinchy) นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่าสัตว์มีความกลัวมนุษย์อย่างฝังรากลึก และในเอกสารวิจัยได้กล่าวสรุปว่า การได้ยินเสียงมนุษย์ คือ สิ่งที่กระตุ้นให้สัตว์เกิดความกลัวมากที่สุด ซึ่งบ่งบอกว่าสัตว์ป่ามองว่ามนุษย์เป็นอันตรายที่แท้จริง


ปัจจุบันมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และอาศัยอยู่ในแทบทุกหนแห่ง ดังนั้นการหลบหนีเมื่อได้ยินเสียงมนุษย์จึงเป็นเพียงการหนีเอาตัวรอดชั่วคราวเท่านั้น และหมายความว่าสัตว์เหล่านี้จะยังคงต้องเผชิญกับความกลัวอย่างต่อเนื่อง


ลีอาน่า ซาเน็ตต์ (Liana Zanette) นักนิเวศวิทยาผู้นำการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า การที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทุ่งหญ้าสะวันน่าหวาดกลัวมนุษย์ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ก่อขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่สัตว์สูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของสัตว์บางสายพันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น


ในฐานะสัตว์ที่อันตรายที่สุดในโลกและเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของวิวัฒนาการในปัจจุบัน เรียกได้ว่ามนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังความหวาดกลัวให้กับเพื่อนร่วมโลกอย่างแท้จริง


งานวิจัยดังกล่าวนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2023


ที่มาข้อมูล ScienceAlert

ที่มารูปภาพ Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง